ประชาชน 54.02 ระบุทางเท้าในกรุงเทพส่วนใหญ่ไม่มีความปลอดภัย

จันทร์ ๑๙ กันยายน ๒๐๑๖ ๑๕:๕๕
ประชาชน 54.02 ระบุทางเท้าในกรุงเทพส่วนใหญ่ไม่มีความปลอดภัย ขณะที่ปัญหาสำคัญที่พบบนทางเท้ามากที่สุดคือ มีต้นไม้/เสาไฟกีดขวาง มีหาบเร่แผงลอยกีดขวาง และมีรถจักรยานยนต์ขี่บนทางเท้า

ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นต่อการใช้บาทวิถี/ทางเท้าบนถนนสาธารณะของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 11 ถึง 16 กันยายน พ.ศ. 2559 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,183 คน

ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า บาทวิถีหรือทางเท้าคือสิ่งก่อสร้างที่ยกระดับให้สูงขึ้นมาจากพื้นถนนเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้คนใช้เดินสัญจรรวมถึงเพื่อเว้นระยะห่างระหว่างสิ่งก่อสร้างที่เป็นอาคารสถานที่ให้ออกจากถนนสาธารณะ โดยทั่วไปบาทวิถีจะต้องมีขนาดความกว้างที่เหมาะสม มีลักษณะเรียบ และไม่มีสิ่งกีดขวางใด เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยให้กับผู้คนที่ใช้เดินสัญจร แต่อย่างไรก็ตาม ผู้คนที่ใช้บาทวิถีหรือทางเท้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลกลับพบปัญหาต่างๆมากมายไม่ว่าจะเป็นลักษณะพื้นบาทวิถีที่ไม่เรียบหรือแคบเกินไป มีสิ่งกีดขวางต่างๆ เช่น เสาไฟฟ้า ตู้โทรศัพท์ หาบเร่แผงลอย รวมถึงการปลูกสิ่งก่อสร้างลุกล้ำพื้นที่บาทวิถี และการนำยานพาหนะส่วนตัวมาจอดกีดขวางหรือการขับขี่จักรยานยนต์บนบาทวิถี ซึ่งปัญหาต่างๆเหล่านี้ทำให้เกิดความไม่สะดวกและไม่ปลอดภัยในการใช้บาทวิถีเดินสัญจร ผู้คนในสังคมจึงเริ่มออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เริ่มตระหนักและให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาต่างๆที่พบในการใช้บาทวิถีแต่ปัญหาต่างๆก็ยังคงไม่หมดไป จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นต่อการใช้บาทวิถี/ทางเท้าบนถนนสาธารณะของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างซึ่งร้อยละ 50.63 เป็นเพศหญิง และมีเพศชายร้อยละ 49.37 อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปสามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านพฤติกรรมการใช้บาทวิถีเดินสัญจรนั้น ในรอบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 51.65 ระบุว่าตนเองใช้บาทวิถี/ทางเท้าบนถนนสาธารณะเดินสัญจรเป็นประจำทุกวัน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 41.84 ระบุว่าใช้แต่ไม่ทุกวัน ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 6.51 ระบุว่าไม่ได้ใช้เลย

ส่วนในด้านความคิดเห็นต่อลักษณะ ความสะดวกสบาย และความปลอดภัยในการใช้บาทวิถีเดินสัญจรนั้น กลุ่มตัวอย่างประมาณครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 50.13 มีความคิดเห็นว่าขนาดความกว้างของบาทวิถี/ทางเท้าบนถนนสาธารณะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีความเหมาะสมเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 37.36 มีความคิดเห็นว่ามีความกว้างที่เหมาะสมประมาณครึ่งหนึ่ง และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 12.51 ระบุว่าส่วนใหญ่แคบเกินไป อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.41 มีความคิดเห็นว่าบาทวิถี/ทางเท้าบนถนนสาธารณะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลส่วนใหญ่ไม่มีความสะดวกสบายในการใช้เดินสัญจรไปมา ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.57 มีความคิดเห็นว่ามีความสะดวกสบายในการใช้เดินสัญจรประมาณครึ่งหนึ่ง โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 19.02 ระบุว่าส่วนใหญ่มีความสะดวกสบายในการใช้เดินสัญจร ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 54.02 มีความคิดเห็นว่าบาทวิถี/ทางเท้าบนถนนสาธารณะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลส่วนใหญ่ไม่มีความปลอดภัยในการใช้เดินสัญจรไปมา ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 27.81 มีความคิดเห็นว่ามีความปลอดภัยในการใช้เดินสัญจรประมาณครึ่งหนึ่ง โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 18.71 ระบุว่าส่วนใหญ่มีความปลอดภัยในการใช้เดินสัญจร

สำหรับปัญหาสำคัญ 5 อันดับที่กลุ่มตัวอย่างพบในการใช้บาทวิถี/ทางเท้าบนถนนสาธารณะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเดินสัญจรมากที่สุดได้แก่ มีต้นไม้/เสาไฟฟ้า/โทรศัพท์กีดขวางคิดเป็นร้อยละ 84.78 มีหาบเร่แผงลอยขายอาหาร/สินค้ากีดขวางทางเดินคิดเป็นร้อยละ 83.26 มีรถจักรยานยนต์ขี่บนบาทวิถีคิดเป็นร้อยละ 81.23 มีป้ายโฆษณาต่างๆวางระเกะระกะคิดเป็นร้อยละ 78.95 และมีฝาท่อระบายน้ำเปิด/ปิดไม่สนิทคิดเป็นร้อยละ 76.84

ในด้านความคิดเห็นต่อการแก้ไขปัญหาต่างๆบนบาทวิถีนั้น กลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 73.54 เห็นด้วยในการออกกฎหมายห้ามมิให้มีการขับขี่จักรยานยนต์บนบาทวิถี/ทางเท้าสาธารณะ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างประมาณสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 75.06 มีความคิดเห็นว่าควรมีการเพิ่มบทลงโทษให้หนักขึ้นกับผู้ที่ทำให้เกิดการกีดขวางบนบาทวิถี/ทางเท้า เช่น การจอดยานพาหนะ การวางป้ายโฆษณาต่างๆ การสร้าง/ต่อเติมอาคาร-พื้น-ทางเดิน แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 69.91 มีความคิดเห็นว่าในปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาต่างๆบนบาทวิถถี/ทางเท้ายังไม่เพียงพอ

ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นต่อวิธีการแก้ไขปัญหาหาบเร่แผงลอยบนบาทวิถีระหว่างการห้ามมิให้หาบเร่แผงลอยตั้งบนบาทวิถีเลยกับการจำกัดแนวการตั้งหาบเร่แผงลอยบนบาทวิถีมิให้กีดขวางพื้นที่เดินสัญจร กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.49 เห้นด้วยกับการจำกัดแนวการตั้งหาบเร่แผงลอยบนบาทวิถีโดยมิให้กีดขวางพื้นที่เดินสัญจร ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 47.51 เห็นด้วยกับการห้ามให้หาบเร่แผงลอยตั้งบนบาทวิถีเลย

นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 64.41 มีความคิดเห็นว่าหากมีการปรับปรุงแก้ไขปัญหาเพื่อเพิ่มความสะดวกปลอดภัยในการใช้บาทวิถี/ทางเท้าบนถนนสาธารณะเดินสัญจรจะมีส่วนทำให้ผู้คนหันมาใช้การเดินไปทำกิจกรรมในสถานที่ใกล้เคียงแทนการใช้ยานพาหนะได้มากขึ้น และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.27 มีความคิดเห็นว่าหากมีการปรับปรุงแก้ไขปัญหาเพื่อเพิ่มความสะดวกปลอดภัยในการใช้บาทวิถี/ทางเท้าบนถนนสาธารณะเดินสัญจรจะมีส่วนช่วยส่งเสริมให้ผู้คนออกกำลังกายด้วยการเดิน/วิ่งมากขึ้นได้ ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version