พล.อ. ธนะศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า รวมถึงการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เนื่องในโอกาสวันพระราชสมภพ 28 กรกฎาคม 2559 ณ โรงละครแห่งชาติ การจัดงานมหกรรมศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ จังหวัดเชียงใหม่ การจัดการแสดงดนตรีเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ณ โรงละครแห่งชาติ เป็นต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า สบศ. เป็นสถาบันการศึกษาที่มีความสำคัญอย่างมากในการจัดการเรียนการสอนและสร้างบุคคลเพื่ออนุรักษ์ สืบสานและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของไทย
พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้พบว่า สบศ. ยังเป็นสถาบันที่มีความสำคัญในการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการการจัดทำมาตรฐานชาติด้านนาฏศิลป์ ดนตรี และทัศนศิลป์ ณ จังหวัดตรัง การนำผลงานวิจัย งานสร้างสรรค์ นวัตกรรมไปเผยแพร่ในเวทีระดับนานาชาติ ณ ประเทศญี่ปุ่น การเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมใน งานฉลองครบรอบ 40 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทยกับจีน ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน และงานเทศกาลไทย ณ กลุ่มประเทศนอร์ดิก เป็นต้น ซึ่งการดำเนินงานต่างๆเหล่านี้ทำให้เด็กและเยาวชนมีเวทีในการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย รวมทั้งทำให้ วธ. เป็นที่รู้จักและเป็นที่สนใจต่อนานาชาติมากขึ้น
พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามจากการรับฟังผลการดำเนินงานของ สบศ. ที่ผ่านมาพบว่า มีปัญหาเรื่องโครงสร้างการบริหารจัดการ ที่มีปัญหาเรื่องขาดหน่วยงานด้านสำนักงาน อาทิ ด้านบริหาร งานทั่วไป ด้านการเงิน การคลัง ด้านบริหารงานบุคคล ซึ่งได้มอบนโยบายให้กระจายบุคลากรที่มีอยู่เดิมมาปฏิบัติงานในส่วนงานที่ยังขาดหรือจัดหาบุคลากรที่เป็นพนักงานราชการและลูกจ้างจากภายนอกมาทดแทน นอกจากนี้ยังมีปัญหาขาดแคลนบุคคลากรด้านการสอนในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ตามเกณฑ์มาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ซึ่งในเบื้องต้นได้แนะให้ สบศ.สำรวจความจำเป็นพร้อมทั้งจัดทำแผนเสนอขออัตรากำลังข้าราชการในส่วนของอาจารย์เพิ่มเติมเพื่อรับผิดชอบและประจำหลักสูตรให้เพียงพอและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยตนพร้อมที่จะสนับสนุนนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)ของบประมาณด้านบุคคลากรต่อไป