นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ กล่าวว่า ธนาคารกรุงไทย และ บมจ. เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งดำเนินกิจการโรงงานน้ำตาลโรงเดี่ยวที่มีกำลังการผลิตใหญ่ที่สุดของประเทศ และเป็นลูกค้าที่เติบโตเคียงคู่ธนาคารมาตลอด 50 ปี ได้ร่วมกันพัฒนาระบบงานเพื่อรองรับการขายลดเช็คในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (KTB e-LBD) โดยธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารแรกที่ให้บริการรับซื้อลดค่าอ้อย เกี๊ยวอ้อยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้เช็ค เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้ากลุ่มโรงงานน้ำตาลและเกษตรกร ชาวไร่อ้อย โดยธนาคารตั้งเป้าเป็นผู้นำโซลูชั่นในอุตสาหกรรมน้ำตาล และจะพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโรงงานน้ำตาลที่ใช้บริการ KTB e-LBD เพียงมีวงเงินสินเชื่อขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินกับธนาคารเท่านั้น
"บริการ KTB e-LBD จะช่วยลดขั้นตอนและต้นทุนในการรับซื้อลดค่าอ้อย เกี๊ยวอ้อย เกษตรกรผู้ใช้บริการเพียงแจ้งเลขที่บัญชีที่ใช้รับเงินค่าเกี๊ยวอ้อยกับโรงงานน้ำตาลและสาขาของธนาคารกรุงไทย เมื่อถึงเวลาจ่ายค่าเกี๊ยวอ้อย ธนาคารจะดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีให้โดยอัตโนมัติ โดยโรงงานน้ำตาลไม่ต้องเขียนเช็คจำนวนมากให้เกษตรกร และเกษตรกรก็ไม่ต้องนำเช็คค่าอ้อย เกี๊ยวอ้อยไปขึ้นเงินที่ธนาคารเหมือนที่ผ่านมา และในเฟสต่อไป ธนาคารจะให้บริการจ่ายเงินค่าอ้อย เกี๊ยวอ้อยเต็มวงเงิน เพื่อให้เกษตรกรบริหารเงินได้ด้วยตนเอง ซึ่งโรงงานน้ำตาลและเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่สนใจ สามารถสมัครใช้บริการ KTB e-LBD ได้ที่สาขากว่า 1,200 แห่งทั่วประเทศ "
ด้าน นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล เปิดเผยว่า กลุ่ม KTIS เป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับพี่น้องชาวไร่อ้อยเป็นอย่างมาก สิ่งใดที่เป็นประโยชน์กับพี่น้องชาวไร่อ้อย เป็นหน้าที่ของเราซึ่งต้องดำเนินการให้ได้ดีที่สุด ซึ่งบริการ KTB e-LBD ที่ร่วมกันพัฒนาในครั้งนี้ช่วยเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้มาก เพราะระบบเดิม เกษตรกรจะต้องรับเช็คแล้วนำไปขายลดเช็คที่สาขาของธนาคาร ทำให้เสียเวลา ซึ่งหากเกษตรกรไปพร้อมๆ กันจำนวนมาก ก็จะเจอปัญหาการต่อคิวซึ่งสูญเสียเวลามากขึ้นไปอีก แต่ระบบใหม่ได้เงินเข้าบัญชีของเกษตรกรโดยตรง ปัญหานี้จึงหมดไป
ในส่วนของกลุ่ม KTIS เองนั้น ก็ไม่เคยหยุดนิ่งในการพัฒนาระบบและกระบวนการทำงานในด้านต่างๆ อยู่เสมอ รวมถึงด้านบัญชีการเงินด้วย ซึ่ง KTB e-LBD ก็ถือว่าเป็นพัฒนาการที่สำคัญ เพราะในระบบการจ่ายเช็คค่าอ้อย เช็คเกี๊ยว ให้กับชาวไร่อ้อยแบบเดิมจะต้องให้ผู้มีอำนาจลงนามของบริษัทฯ ลงนามในเช็คทีละฉบับ จำนวนหลายพันหรือหลักหมื่นฉบับต่อฤดูการหีบอ้อยแต่ละครั้ง ซึ่งสูญเสียทั้งแรง เวลา และค่าใช้จ่ายในการซื้อเช็ค