กระทรวงพลังงาน มีนโยบายส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในทุกภาคส่วน โดยใช้มาตรการทั้งทางด้านการบริหาร ด้านสังคมและด้านกฎหมาย และกลุ่มเป้าหมายหนึ่งก็คืออาคารภาครัฐ ซึ่งมีจำนวนมากทั่วประเทศ ซึ่งหากมีการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน จะสามารถประหยัดงบประมาณของรัฐ และเป็นตัวอย่างให้กับภาคเอกชนให้ดำเนินการ
โรงพยาบาลของรัฐ เป็นอาคารกลุ่มที่ใช้พลังงานสูง เนื่องจากเปิดใช้งาน 24 ชั่วโมง และส่วนใหญ่มีอายุการใช้งานยาวนาน อุปกรณ์จึงมีประสิทธิภาพต่ำและสิ้นเปลืองพลังงาน การลงทุนปรับปรุงมีความคุ้มค่ามาก โดยมีโรงพยาบาลของรัฐให้บริการประชาชนอยู่ถึง 1,027 แห่งทั่วประเทศ
พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในปี 2559 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) โดยการสนับสนุนของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้จัดทำ โครงการสนับสนุนการลงทุนการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ในโรงพยาบาลของรัฐ (Matching Fund) เพื่อสนับสนุนเงินลงทุนในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับอาคารโรงพยาบาลของรัฐ สำหรับวิธีให้การสนับสนุน โครงการ ฯ จะพิจารณาสนับสนุนมาตรการอนุรักษ์พลังงานที่มีระยะเวลาคืนทุนไม่เกิน 7 ปี ในอัตราร้อยละ 70 ของเงินลงทุน โรงพยาบาลสมทบงบประมาณร้อยละ 30 นอกจากนี้ ได้สนับสนุนค่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบและควบคุมงานให้กับโรงพยาบาลในอัตราร้อยละ 5 ของเงินลงทุน เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลทางด้านเทคนิควิศวกรรมด้วย
ทั้งนี้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นที่ปรึกษาบริหารโครงการ โดยเปิดรับสมัครโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการในกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับอย่างดียิ่ง มีโรงพยาบาลทั่วประเทศสมัครเข้าร่วมถึง 138 แห่ง วงเงินลงทุนปรับปรุงรวม 2,047 ล้านบาท มูลค่าผลประหยัดพลังงาน 640 ล้านบาทต่อปี และขอรับการสนับสนุนสูงถึง 1,448 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่างบประมาณของโครงการที่ตั้งไว้ 700 ล้านบาท พพ. สามารถจัดสรรงบประมาณสนับสนุนโรงพยาบาล ได้ทั้งสิ้น 71 แห่ง เกิดการลงทุนรวม 1,008 ล้านบาท โดย พพ. ให้การสนับสนุนเงินลงทุน 700 ล้านบาท และโรงพยาบาลสมทบ 308 ล้านบาท มีผลประหยัดด้านพลังงานไฟฟ้า 92 ล้านหน่วย และด้านพลังงานความร้อน 24,838 GJ รวมผลประหยัดทั้งสิ้น 8.46 ktoe คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้รวม 420 ล้านบาท มีระยะเวลาคืนทุนเฉลี่ย 2.4 ปี และสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 55,235 ตันต่อปี นับเป็นโครงการสนับสนุนที่มีความคุ้มค่าสูง
ในระยะแรก มีโรงพยาบาลได้รับการสนับสนุนจำนวน 71 แห่ง โดยครอบคลุมโรงพยาบาลทุกขนาด เช่น โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลราชวิถี, โรงพยาบาลประจำจังหวัดและอำเภอ จากทั่วประเทศ โดยมีมาตรการที่โรงพยาบาลของรัฐดำเนินการปรับปรุงที่มีสัดส่วนเงินลงทุนสูงสุด คือมาตรการเปลี่ยนเครื่องทำน้ำเย็นประสิทธิภาพสูง คิดเป็นร้อยละ 36 ของเงินลงทุนทั้งหมด รองลงมาคือมาตรการเปลี่ยนไปใช้หลอดไฟแอลอีดี ร้อยละ 27 มาตรการเปลี่ยนหม้อไอน้ำประสิทธิภาพสูง ร้อยละ 10 และมาตรการเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศเป็นแบบอินเวอร์เตอร์ ร้อยละ 9 ตามลำดับ
สำหรับโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการจะต้องทำสัญญาขอรับการสนับสนุน ฯ กับ พพ. และมีระยะเวลาดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างพร้อมกับติดตั้งอุปกรณ์ตามมาตรการอนุรักษ์พลังงานที่เสนอมาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 9 เดือนนับจากที่ลงนามในสัญญารับการสนับสนุนฯ
โครงการสนับสนุนการลงทุนการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ในโรงพยาบาลของรัฐ (Matching Fund) จึงเป็นต้นแบบที่ดีในการกระตุ้นความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐในการอนุรักษ์พลังงานของประเทศร่วมกัน