สหกรณ์ประมงคุ้งกระเบน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ที่เป็นสหกรณ์ในโครงการประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ ดำเนินการแบบบูรณาการระหว่างศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนและบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF) สภาพโดยทั่วไปของพื้นที่มีระบบชลประทานน้ำเค็มเพื่อการเลี้ยงกุ้ง และในพื้นที่ประสบปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม และโรค EMS โดยบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ได้สนับสนุนเทคโนโลยีการเลี้ยงโดยลดการใช้พันธุ์ และเพิ่มอัตราการรอดของกุ้งเป็นร้อยละ 85 พัฒนาการเลี้ยงกุ้งตามการส่งเสริมและพัฒนาการเลี้ยงด้วยแนวทาง 3 สะอาด ได้แก่ ลูกกุ้งสะอาด น้ำสะอาด และพื้นบ่อสะอาด ปรับปรุงบ่อตกตะกอนและดึงน้ำเข้าบ่อเพื่อเตรียมน้ำสู่บ่อเลี้ยง ปรับปรุงบ่อเลี้ยงกุ้งโดยการปู (Polyethylene: PE)
นอกจากนี้ การเลี้ยงได้มีการบำบัดเพื่อนำกลับมาใช้ในฟาร์มโดยไม่ปล่อยสู่ธรรมชาติ ซึ่งได้มีการศึกษารูปแบบการผลิตและการบำบัดน้ำในฟาร์มจากการประปา จึงทำให้การเลี้ยงกุ้งในรูปแบบนี้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขณะนี้อยู่ระหว่างการปล่อยลูกกุ้งและลงบ่อ โดยสามารถลดต้นทุนการเลี้ยงได้ในช่วง 30 วันแรก (การอนุบาลลูกกุ้ง และเพิ่มรุ่นการเลี้ยงจาก 2 รุ่น เป็น 4 รุ่น) และคาดว่าจะสามารถเริ่มจับขายได้อีกประมาณ 3 เดือน
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร คณะทำงานฯ จึงได้มีความร่วมมือร่วมกันทั้งจากภาครัฐและเอกชนเพื่อส่งเสริมการปลูกพืชเสริมรายได้หลังจากการเพาะปลูก ตัวอย่างเช่น การส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองหลังนา ซึ่งได้รับความสนับสนุนจากภาคเอกชนในการจัดหาตลาดรับซื้อ และภาครัฐได้ดำเนินการวางแผนการผลิต การตลาด เจรจากับบริษัท/ผู้ประกอบการในการรับซื้อและราคาที่เหมาะสม รวมทั้งให้สหกรณ์เข้ามามีส่วนร่วมในการรับซื้อถั่วเหลืองจากสหกรณ์ด้วย
จากการประชุมในวันนี้ นอกจากจะได้รับทราบความก้าวหน้า ปัญหา อุปสรรคการดำเนินงานในพื้นที่แล้ว ในพื้นที่ก็จะได้สร้างการรับรู้มาตรการที่ภาครัฐให้การสนับสนุนที่ผ่านมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 ส.ค.59 ในโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อให้ภาคเอกชนรับรู้และเข้าใจกระบวนการให้การสนับสนุนของภาครัฐอีกด้วย
ทั้งนี้ คณะทำงานการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ (D6) เป็นองค์ประกอบใน 12 คณะทำงาน ภายใต้คณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (Public-Private Steering Committee) ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายสูงสุดในการยกระดับรายได้ของประเทศให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง ควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตอย่างมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน และมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยคณะทำงาน D6 มีเป้าหมายเพื่อ "ลดการเหลื่อมล้ำ พัฒนาเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer และ SME เกษตร และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภาคเกษตร"
แผนการดำเนินงานทั้งแบบระยะ 6 เดือน (Quick win) โดยดำเนินการรวมกลุ่มการผลิตการเกษตรให้เป็นระบบแปลงใหญ่แบบเกษตรสมัยใหม่ พัฒนาสหกรณ์การเกษตรประชารัฐ แผนงานระยะปานกลาง – ยาว (1 ปีขึ้นไป) ดำเนินการการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำ และการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารมาพัฒนา Application เพื่อการเกษตรที่ผ่านมา หัวหน้าคณะทำงานภาครัฐและเอกชนได้ให้ความสำคัญและติดตามผลการดำเนินงานในพื้นที่ โดยได้มีการตรวจเยี่ยมพื้นที่แปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ ครั้งที่ 1 วันศุกร์ ที่ 1 ก.ค. 59 ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสุขสยามคูโบต้า– ผักไหม ในพื้นที่ ต.ผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ และโครงการหงษ์ทองนาหยอด ในพื้นที่ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ซึ่งแปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ข้าว ครั้งที่ 2 วันศุกร์ ที่ 8 ก.ค. 59 ตรวจเยี่ยม 1 แปลงสหกรณ์ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชลบุรี จำกัด (ปลานิล) หอการค้าไทย ต.เกาะลอย อ.พานทอง จ.ชลบุรี ครั้งที่ 3 วันศุกร์ ที่ 5 ส.ค. 59 ตรวจเยี่ยมโครงการขับเคลื่อนพัฒนาสหกรณ์ประมงประชารัฐ 2 พื้นที่ 1. สหกรณ์การเกษตรบ้านสร้าง จำกัด (ปลานิลร่วมกับกุ้งขาวแวนนาไม) บ.ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด ต.บางปลาร้า อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี 2. สหกรณ์นิคมบ้านสร้างพัฒนา จำกัด (ปลานิลร่วมกับกุ้งขาวแวนนาไม) บ.ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด ต.บางปลาร้า อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี