ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า วันที่ 30 กันยายนของทุกปีถือเป็นวันเกษียณอายุในการทำงานของข้าราชการและลูกจ้างในหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ รวมถึงพนักงานขององค์กรเอกชนบางแห่งที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ซึ่งได้ถูกกำหนดและถือปฏิบัติกันมาอย่างยาวนานเพื่อให้สอดคล้องกับการสิ้นสุดปีงบประมาณดำเนินงานของหน่วยงานนั้นๆ ทั้งนี้ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และลูกจ้างในสถานประกอบการเอกชนส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะถูกกำหนดให้เกษียณอายุในการทำงานตอน 60 ปี ยกเว้นในบางสายอาชีพหรือสายงานที่มีการกำหนดอายุเกษียณในการทำงานให้สูงหรือต่ำกว่า 60 ปีเพื่อความเหมาะสม ขณะเดียวกันในปัจจุบันเริ่มมีแนวคิดในการขยายอายุเกษียณในการทำงานออกไปเป็น 65 ปี เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในการทำงานรวมถึงเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีแต่ยังมีศักยภาพในการทำงานได้ทำงานต่อไปและเป็นการลดภาระเกี่ยวกับสวัสดิการในการดูแลผู้สูงอายุ แต่อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมถึงผลดีและผลเสียที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะนักวิชาการและประชาชนบางส่วนที่มีความคิดเห็นว่าอาจเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณมากขึ้นและลดโอกาสคนรุ่นใหม่ในการได้งานทำ จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และลูกจ้างสถานประกอบการเอกชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการขยายอายุเกษียณในการทำงาน
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดซึ่งเป็นลูกจ้างและพนักงานในสถานประกอบการเอกชน ข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ โดยเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.74 และเพศชายร้อยละ 49.26 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความรับรู้และความคิดเห็นต่อแนวคิดการขยายอายุเกษียณในการทำงานไปเป็น 65 ปีนั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 74.33 ทราบ/ได้ยินข่าวเกี่ยวกับแนวคิดการขยายอายุเกษียณในการทำงานไปเป็น 65 ปี ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 25.67 ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ได้ยิน อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 48.39 ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการขยายอายุเกษียณในการทำงานไปเป็น 65 ปี ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 41.6 เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.01 ไม่แน่ใจ
ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 55.53 มีความคิดเห็นว่าหากมีการขยายอายุเกษียณในการทำงานไปเป็น 65 ปี จะมีส่วนทำให้หน่วยงานต่างๆต้องใช้งบประมาณมากขึ้น ในทางกลับกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 57.62 มีความคิดเห็นว่าหากมีการขยายอายุเกษียณในการทำงานไปเป็น 65 ปี จะมีส่วนช่วยลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในหน่วยงานต่างๆได้ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.22 มีความคิดเห็นว่าหากมีการขยายอายุเกษียณในการทำงานไปเป็น 65 ปี จะไม่มีส่วนทำให้หน่วยงานต่างๆประกาศรับสมัครงานน้อยลง
ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 58.49 มีความคิดเห็นว่าหากมีการขยายอายุเกษียณในการทำงานไปเป็น 65 ปี จะมีส่วนทำให้ ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และลูกจ้างสถานประกอบการเอกชนมีเงินออมเก็บมากขึ้นได้ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 57.35 มีความคิดเห็นว่าหากมีการขยายอายุเกษียณในการทำงานไปเป็น 65 ปี จะมีส่วนช่วยลดโอกาสการเป็นโรคซึมเศร้าของ ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และลูกจ้างสถานประกอบการเอกชนหลังเกษียณได้ แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 77.28 เห็นด้วยที่จะคงสวัสดิการให้กับผู้ที่ต้องการเกษียณอายุในการทำงานตอน 55 ปี และ 60 ปี ไว้เช่นเดิม หากมีการขยายอายุเกษียณในการทำงานไปเป็น 65 ปี
และสำหรับความตั้งใจในการเกษียณอายุการทำงานตอนอายุเท่าใดนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 46.74 ตั้งใจจะเกษียณอายุในการทำงานตอน 60 ปี ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 15.58 และร้อยละ 12.01 ตั้งใจจะเกษียณอายุตอน 65 ปี และ 55 ปีตามลำดับ โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างถึงประมาณหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 25.67 ยังไม่แน่ใจ ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าว