นายแพทย์อำนวย กล่าวว่า เนื่องด้วยวันที่ 28 กันยายน ของทุกปีเป็นวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก (World Rabies Day) ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตปีละประมาณ 55,000 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ทวีปแอฟริกาและเอเชีย โดยสาเหตุมาจากการไม่ได้ควบคุมโรคในสุนัข และผู้เสียชีวิตไม่ได้เข้ารับการรักษาหลังสัมผัสโรค โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กซึ่งจัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุด และปัจจุบันมีมากกว่า 150 ประเทศที่เข้าร่วมรณรงค์วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลกดังกล่าว รวมถึงประเทศไทยด้วย
โรคพิษสุนัขบ้า สามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลป้องกันรักษาภายหลังสัมผัสโรคอย่างทันท่วงที ซึ่งประเทศไทยยังมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้ทุกปี โดยในปี 2559 นี้มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว จำนวน 8 ราย จากจังหวัดฉะเชิงเทรา 2 ราย และจังหวัดตาก ระยอง สมุทรปราการ สงขลา ศรีสะเกษ จังหวัดละ 1 ราย ซึ่งพบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตในปี 2559 เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับ 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2554 – 2558) พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า7, 7, 7, 5, 5 ราย ตามลำดับ
นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อไปว่า การดำเนินงานป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าของประเทศไทยที่ผ่านมา อาศัยการทำงานผ่านเครือข่ายสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) โดยได้รับความร่วมมือจากกรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและภาคเอกชนทุกภาคส่วนอย่างจริงจังในทุกระดับ โดยมุ่งเน้นดำเนินการตามนโยบายประชารัฐของรัฐบาล ทั้งด้านสาธารณสุข ปศุสัตว์ และท้องถิ่น รวมถึงทุกภาคส่วนร่วมกันประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้ประชาชนร่วมมือป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เน้น "ถูกกัดต้องได้รับวัคซีนทุกราย" และ "ใครเลี้ยงสัตว์ต้องพาไปฉีดวัคซีน"เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย การกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปภายในปี 2563
สำหรับวันรณรงค์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลกปีนี้ กรมควบคุมโรค ได้ร่วมกับกรมปศุสัตว์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดปทุมธานี เทศบาลนครรังสิต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ให้ความรู้โรคพิษสุนัขบ้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนให้เกิดความตระหนัก ปลูกจิตสำนึกให้มีพฤติกรรมเลี้ยงสุนัขที่ถูกต้อง กระตุ้นให้ประชาชนให้ความร่วมมือป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ลดความเสี่ยงจากการถูกสุนัขกัด และปฏิบัติตนหลังถูกสัตว์กัดได้ถูกต้อง ภายใต้แนวคิดที่ว่า "สุขภาพหนึ่งเดียว ประชารัฐร่วมใจ สู้ภัยโรคพิษสุนัขบ้า
นายแพทย์อำนวย กล่าวอีกว่า กรมควบคุมโรค ได้ระบุให้โรคพิษสุนัขบ้าเป็นหนึ่งในโรคที่ต้องแจ้งความต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อพ.ศ. 2558 หากพบผู้ป่วยต้องแจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขทราบทันที และได้วางแนวทางการป้องกันโรคไว้ 3 ขั้นตอน ดังนี้ 1.ก่อนถูกกัด ใช้หลักการคาถา 5 ย. ป้องกันการถูกกัด ได้แก่ "อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ อย่ายุ่ง" อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห อย่าเหยียบสุนัข หรือทำให้สุนัขตกใจ อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบชามอาหารขณะสุนัขกำลังกิน และอย่ายุ่งกับสุนัขนอกบ้านหรือที่ไม่ทราบประวัติ 2.กรณีถูกกัด ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน และรีบไปพบแพทย์โดยทันที เพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอย่างเหมาะสม รวมถึงกักขังสัตว์ที่กัดสังเกตอาการอย่างน้อย 10 วัน หากสัตว์ตัวนั้นมีอาการปกติแสดงว่าไม่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า แต่หากสุนัขหรือแมวเสียชีวิต ให้รีบแจ้งกรมปศุสัตว์หรือสถานเสาวภาเพื่อส่งตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าทางห้องปฏิบัติการ และ3.หลังจากถูกกัด ควรรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่องครบชุดตามเวลาที่แพทย์นัด หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422