พลังเล็กๆสู่การสร้างพลเมือง

อังคาร ๐๔ ตุลาคม ๒๐๑๖ ๑๓:๒๑
งาน"ประชุมระดับชาติด้านการอาสาสมัคร ครั้งที่ 2"เป็นเวทีเสวนาเพื่อสำรวจสถานการณงานอาสาสมัครในภาพรวมระดับประเทศ โดยเป็นการรวบรวมองค์ความรู้ด้านงานอาสาสมัครกับประเด็นการพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ ซึ่งในวงเสวนามีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านมุมมองทางวิชาการในประเด็นด้านการพัฒนาและเครื่องมือในการทำงานด้านอาสามัครรวมถึงคุณค่าของงานอาสามัครต่อการพัฒนาประเทศ

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ"อาสาสมัครกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน" โดยระบุว่า โจทย์ของการใช้ทรัพยากรร่วมกันของมนุษย์บนโลกที่มีทรัพยากรอยู่อย่างจำกัด จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างประหยัด ภายใต้จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นทุกวัน จึงเป็นประเด็นที่สะท้อนถึงการนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ตามกรอบแนวทางขององค์การสหประชาชาติที่กำหนดเป้าหมายการพัฒนา โดยอาศัยกรอบความคิดที่มองการพัฒนาในด้านต่างๆให้เป็นมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่มีความเชื่อมโยงกัน

และแม้ว่าเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับประชาคม แต่ต้องยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถเกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน โดยเฉพาะความเข้าใจในการบูรณาการเรื่องความยั่งยืนในสังคมไทยที่แม้ว่าจะตื่นตัวในเรื่องของการให้ แต่สิ่งคัญคือการให้ในที่นี้ต้องสร้างความยั่งยืนแก่ผู้รับประโยชน์ด้วย เพื่อให้สามารถเติบโตและอยู่ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งประเด็นนี้ยังไม่เกิดขึ้นและเป็นข้อจำกัดของงานอาสาสมัครในประเทศไทย ดังนั้น ถ้าผู้ให้คำนึงความยั่งยืนของผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น จะทำให้งานอาสาสมัครในประเทศมีทรัพยากรและสามารถขยายผลสร้างการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวได้

ขณะที่เวทีเสวนาการนำเสนอกรณีศึกษาหรือผลงานทางวิชาการ และการประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับงานจิตอาสาในประเด็น "กระบวนการอาสาสมัครในฐานะเครื่องมือสร้างการมีส่วนร่วมและการพัฒนาพลเมืองที่รับผิดชอบต่อสังคม"โดยมีนางพรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม นายอภิศักดิ์ ทัศนี และน.ส.เพรชเซิซ เอเบเล อีเลชุคกู ตัวแทนกลุ่มเยาวชน Beach For Life หนึ่งในโครงพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา นายอภิสิทธิ์ ลัมยศ ผู้ช่วยศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น มูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชนวัดโป่งคำ จ.น่าน และ ดร.ฐิติมา เวชพงศ์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมเสวนาถึงเส้นทางการสร้างพลังเยาวชนกับการทำงาน Active citizen ซึ่งสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ภายใต้โจทย์การดำเนินการโครงการของเด็กและเยาวชน ด้วยการออกแบบ"สร้างกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม"ระหว่างกลุ่มแกนนำเด็กและเยาวชน ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน และพี่เลี้ยงหรือโค้ช การเสริมทักษะชีวิตและแรงบันดาลใจในการทำงาน การให้เยาวชนลงมือทำปฏิบัติการจริงบนฐานความรู้ ซึ่งนำไปสู่การถอดบทเรียน และสุดท้ายคือการสื่อสารต่อสังคม

นางพรรณิภา กล่าวว่า การทำงาน Active citizen เน้นพลังของเด็กและเยาวชนในช่วงวัยรุ่นที่อายุระหว่าง 14-24 ปี เพราะเชื่อว่าพลังเล็กๆ เหล่านี้สามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้ภาคพลเมืองอื่นๆ ให้มีความตื่นตัวในการทำงานเพื่อชุมชนของตัวเองได้ เพราะในอนาคตย่างก้าวต่อไปของเยาวชนเหล่านี้คือความเป็นพลเมืองนั่นเอง ทั้งนี้โจทย์ในพื้นที่ จ.สงขลา นอกจากเป็นศูนย์กลางของแหล่งธุรกิจแล้วที่นี่ยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติอย่างหาดทราย จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายของกลุ่มเยาวชน Beach For Life ซึ่งได้หยิบยกประเด็นการติดตามกระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพหาดสมิหลาทั้งระบบในชุมชน โดยการมีส่วนร่วมของพลเมืองสงขลาในรูปแบบ Citizen Science หรือพลเมืองวิทยาศาสตร์ ซึ่งสิ่งที่เยาวชนได้มาจากการทำโครงการคือการมีทักษะชีวิตในการเปิดพื้นที่ในการเปลี่ยนแปลงตัวเองและเปลี่ยนแปลงชุมชน

ด้านตัวแทนกลุ่มเยาวชน Beach For Life กล่าวถึงสาเหตุของการการหยิบประเด็นเกี่ยวกับหาดสมิหลาขึ้นมาทำโครงการ ว่า เพราะหาดสมิหลาคือพื้นที่แห่งความสุขของคนสงขลาที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา พบว่าชายหาดมีการพังทลายและเกิดการกัดเซาะกว่า2 กิโลเมตร โดยมีตัวแปรมาจากโครงสร้างแข็งที่สร้างบนพื้นที่ชายหาด ทั้งกองหินทิ้ง กระสอบทราย การดักทราย เป็นต้น บวกกับคนไทยมีความรู้ในด้านองค์ประกอบและธรรมชาติของหาดทรายน้อยมาก ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา จ.สงขลายังไม่เคยมีข้อมูลหรืองานวิจัยเกี่ยวกับหาดทรายทั้งระบบมาก่อนเลย ทำให้กลุ่ม Beach For Life เริ่มศึกษาเพื่อหาทางป้องกันและแก้ปัญหาจากโจทย์จริงที่มีในชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจากนักวิชาการ เครือข่ายพลเมืองและอาสาสมัครคนสงขลา รววมทั้งการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมผ่านธรรมนูญชุมชนฉบับพิเศษ ว่าด้วยธรรมนูญเยาวชนอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน โดยใช้ชายหาดเป็นห้องเรียน-ห้องทำงาน ซึ่งก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมในสังคมให้หันมาประคับประคองเยียวยารักษาดูแลระบบนิเวศหาดทราย

เช่นเดียวกับ จ.น่าน นายอภิสิทธิ์ สะท้อนแนวคิดว่า การเปิดพื้นที่ให้เยาวชนเข้ามาทำงานร่วมกันกับคนในชุมชน ต้องมีโจทย์มาจากชุมชน ปัจจุบัน จ.น่านเกิดปรากฎการณ์การลดลงของทรัพยากร เช่น ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม ควมเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรรวมถึงสิทธิในพื้นที่ทำกิน เป็นต้น หากสามารถเชื่อมโยงปัญหาเหล่านี้ได้และมีการแก้ปัญหาร่วมกัน เชื่อว่าจะเกิดเครือข่ายในการจัดการระบบการทำงานระหว่างเยาวชนและคนในสังคมได้ดีขึ้น รวมทั้งมีการเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้เยาวชนได้ปฏิบัติจริงเพราะเชื่อว่าเยาวชนมีศักยภาพอยู่แล้ว เพียงแต่ยังขาดพื้นที่ในการแสดงออกหรือการทำกิจกรรมร่วมกัน ภายใต้ฐานคิดของการตั้งคำถามชวนคิด ชวนคุย ชวนวิเคราะห์ชุมชนถึงความเป็นไปได้ในการทำโครงการจากโคชหรือพี่เลี้ยง เพื่อนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้ในการทำงานเพราะความสำเร็จที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ตัวกระบวนการเพียงอย่างเดียว แต่โคชเองต้องมีการสร้างสำนึกการรักชุมชนและสำนึกความเป็นพลเมืองให้แก่ตัวเด็กด้วย

เช่นเดียวกับ ดร.ฐิติมา ระบุว่า บทบาทของมหาวิทยาลัยนอกจากการให้องค์ความรู้แล้วนั่นคือการมีบทบาทในฐานะพี่เลี้ยงเมื่อเห็นชุมชนลุกขึ้นมาจัดการตัวเอง ที่ผ่านมามีหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยอย่างหลักสูตรการจัดการชุมชน แต่บทบาทกลับไม่ได้ไปจัดการชุมชน ดังนั้นเมื่อมีโครงการ Active citizen เข้ามาโครงการนี้จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งที่มาเติมเต็มหลักสูตรดังกล่าวให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม เส้นทางการทำงานของเยาวชนจากโครงการ Active citizen ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา กับการสร้างพลังเยาวชนที่ทำงานผ่านโจทย์ปัญหาของชุมชนในมุมมองของตัวเยาวชนเอง ไม่ใช่แค่การทำงานเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์เพียงอย่างเดียว แต่ Active citizen ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างจิตสำนึกพลเมืองให้หยั่งลึกไปในตัวเยาวชน ด้วยวิถีชุมชนและอัตลักษณ์ของชุมชนนั้นๆ ที่ตนอาศัยอยู่อันนำไปสู่การบูรณาการในมุมกว้างเพื่อการพัฒนาประเทศในมิติต่างๆต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ