กรุงเทพฯ--19 ธ.ค.--กทช.
การให้บริการโทรศัพท์มือถือระบบ 3 จี ที่ บมจ.ทีโอที และบมจ. กสท โทรคมนาคม จะดำเนินการในปี 2549 เป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากคลื่นความถี่ที่ใช้มีการจัดทำเป็นแผนแม่บท มีการกำหนดตารางคลื่นความถี่ไว้อย่างชัดเจน และคณะรัฐมนตรีได้อนุมติให้ใช้มาตั้งแต่ปี 2543
ศาสตราจารย์ประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. กล่าวว่า ในความเห็นส่วนตัวไม่จำเป็นต้องรอการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ หรือ กสช. ซึ่งกำลังมีปัญหาอยู่ในขณะนี้ เพราะคลื่นความถี่ที่ใช้เป็นคลื่นความถี่ที่ได้จัดสรรแล้วเพื่อกิจการโทรคมนาคม ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กับ บมจ. ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม ให้ร่วมการงานจัดตั้งบริษัท ไทยโมบาย ไปครั้งหนึ่งแล้ว และเมื่อมี กทช. ก็ได้รับรองแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม และตารางกำหนดความถี่แล้ว แต่คนบางกลุ่มยังเข้าใจผิดว่าต้องรอ กสช. ที่ต้องรอ กสช. ก็คือการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และส่วนที่คาบเกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคม ตาม พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ การให้บริการโทรศัพท์ 3 จี ในประเทศไทย จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม หลายประเทศมีโทรศัพท์ 3 จี ใช้กันมานานแล้ว ถ้าประเทศไทยยังล่าช้าในเรื่องนี้ ก็จะเสียโอกาสในการแข่งขันด้านธุรกิจระดับโลก เนื่องจากเราตามไม่ทันเขา
ศาสตราจารย์ประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ กล่าวเพิ่มเติมว่า เทคโนโลยี 3 จี มีความทันสมัยมาก สามารถส่งภาพ เสียง และข้อมูลได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว ฉะนั้นจึงก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากมาย เช่น นำมาใช้เพื่อการศึกษาทางไกล การประชุมทางไกล การรักษาพยาบาลทางไกล เป็นการกระจายเทคโนโลยีการเรียนรู้ที่ทันสมัยสู่ชนบท ลดช่องว่างด้านการเรียนรู้ระหว่างชนบทกับเมือง เมื่อมีการแข่งขันอย่างเสรี ประชาชนย่อมได้รับบริการที่ดีมีประสิทธิภาพ ขณะที่ค่าบริการไม่น่าจะแพงกว่าในปัจจุบันมากนัก อย่างไรก็ตาม การดำเนินกิจการโทรคมนาคมที่ครบวงจร ทั้งด้านโทรศัพท์ ดาวเทียม อินเตอร์เน็ต และส่วนเกี่ยวเนื่อง เป็นกิจการที่ต้องใช้ทุนมาก ผู้ประกอบการจึงเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เมื่อ กทช. ออกใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการ จึงดูเหมือนว่าเป็นการเอื้อประโยชน์กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่เท่านั้น เป็นเรื่องมุมมองของแต่ละบุคคล กทช. ไม่มีแนวคิดแบบนั้น กทช. พร้อมออกใบอนุญาตให้กับทุกรายที่ยื่นขอ ถ้าผู้ขอมีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์ ขณะนี้ กทช. ได้ออกใบอนุญาตในการให้บริการอินเตอร์เน็ตไปแล้วประมาณ 30 ราย ที่ล้วนแต่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย ในฐานะที่ กทช. เป็นองค์กรที่กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของชาติ กทช. ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรมและโปร่งใส รักษาสิทธิผลประโยชน์ของนักลงทุนไทยและประชาชนเป็นสำคัญ
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ สำนักประชาสัมพันธ์
โทร 04-751-1026, 0-2713-511--จบ--