คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป กรณีคำร้องขอให้ถอดถอนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายกรณ์ จาติกวณิช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายศิริโชค โสภา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

จันทร์ ๑๐ ตุลาคม ๒๐๑๖ ๑๔:๕๕
วันนี้ (7 ตุลาคม ๒๕๕๙) นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ชี้แจงว่าตามที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้ถอดถอนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายกรณ์ จาติกวณิช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายศิริโชค โสภา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีแพร่ข่าวสู่สาธารณชน เมื่อปี 2553 ว่ารัฐบาลมีแนวคิดที่จะซื้อกิจการดาวเทียมไทยคมหรือหุ้นของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) คืนจากบริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จำกัด ประเทศสิงคโปร์ เพื่อเอื้อให้บุคคลบางกลุ่มได้รับประโยชน์จากการซื้อขายหุ้นบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) โดยมิชอบ ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องพิจารณา ดังนี้

ประเด็นที่ 1 การเดินทางไปหารือกับบริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จำกัด เกี่ยวกับเรื่องแนวคิดที่รัฐบาลจะซื้อคืนกิจการดาวเทียมไทยคม เป็นการปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่

จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า แม้ว่าการซื้อ คืนกิจการดาวเทียมไทยคมไม่ได้มีกำหนดไว้ในคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2551 และกิจการดาวเทียมไทยคม อยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ดูแลรับผิดชอบของกระทรวง เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งได้รับโอนกิจการดังกล่าวมาจากกระทรวงคมนาคม ตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศและตามพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 พ.ศ. 2545 มาตรา 72 (4) ประกอบ กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พ.ศ. 2545 แต่กรณีการเดินทางไปหารือกับผู้บริหารของบริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จำกัด นั้น มีเหตุผลความเป็นมาสืบเนื่องจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ ทำให้มีการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ฉบับลงวันที่ 7 เมษายน 2553 และจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ขึ้น โดยปรากฏว่าสถานีโทรทัศน์พีเพิ้ลชาแนล (People Channel) ซึ่งใช้บริการช่องสัญญาณ Ku-Band ดาวเทียมไทยคม 5 ของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ได้ทำการเสนอข่าวที่เป็นการฝ่าฝืนตามข้อ 2 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ดังนั้น ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย จึงได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กห 0407.45/201 ลงวันที่6 เมษายน 2553 ขอให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร แจ้งให้บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ยุติการส่งสัญญาณให้กับสถานีโทรทัศน์ดังกล่าว และศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้มีหนังสือ ที่ กห 0407.45/209 ลงวันที่ 9 เมษายน 2553 แจ้งให้ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ยุติการส่งสัญญาณให้กับสถานีโทรทัศน์ดังกล่าวอีกด้วย แต่บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ได้มีหนังสือ ที่ ทค(ส) 038/2553 ลงวันที่ 12 เมษายน 2553 ชี้แจงว่าไม่สามารถระงับสัญญาณการออกอากาศของสถานี โทรทัศน์พีเพิ้ลชาแนล (People Channel) ได้ โดยอ้างเหตุผลถึงข้อจำกัดทางเทคนิคและปัญหาที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางมาคัดค้านการระงับสัญญาณออกอากาศดังกล่าว

ด้วยเหตุดังกล่าว นายอภิสิทธิ์ จึงได้มีบัญชาให้นายกรณ์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายศิริโชค ในฐานะเลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เดินทางไปยังประเทศสิงคโปร์เพื่อชี้แจงสถานการณ์ ให้ผู้บริหารของบริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งถือเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) โดยได้เดินทางไปในวันที่ 17 เมษายน 2553 และเข้าพบกับนายซี วาย แกน ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จำกัด อย่างไม่เป็นทางการ เพื่อรับทราบปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยภายในและขอความร่วมมือในการหาแนวทางแก้ไขความมั่นคงของประเทศไทย นอกจากนี้ ได้มีการหารือร่วมกันเพิ่มเติมว่าแนวทางหนึ่งอาจจะเป็นการซื้อสินทรัพย์ดาวเทียมไทยคมคืนจากผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งเป็นเพียงการพูดคุยหารือในเบื้องต้นเท่านั้น เนื่องจากมีข้อจำกัดทางกฎหมายที่จำเป็นจะต้องศึกษาเพิ่มเติมหลายประเด็น และได้กลับมารายงานให้นายอภิสิทธิ์ทราบ โดยไม่ได้ดำเนินการใดๆ หรือปรึกษาเพิ่มเติมกับบุคคลอื่นๆ อีก และผลที่สุดแล้วรัฐบาลไม่ได้ดำเนินการซื้อกิจการดาวเทียมไทยคมคืนจากบริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จำกัด แต่อย่างใด

จากพยานหลักฐานดังกล่าว จึงรับฟังไม่ได้ว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 ราย เป็นการปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ ข้อกล่าวหาในประเด็นนี้ไม่มีมูล

ประเด็นที่ 2 การให้สัมภาษณ์ข่าวของผู้ถูกร้องทั้ง 3 ราย เรื่องแนวคิดที่รัฐบาลจะซื้อกิจการดาวเทียมไทยคมคืนจากบริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จำกัด ประเทศสิงคโปร์ เป็นการแพร่ข่าวอันเป็นเท็จหรือไม่

๒.๑ กิจการดาวเทียมไทยคมเป็นสัญญาสัมปทานที่อยู่ภายใต้การดูแลรับผิดชอบของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยดาวเทียมที่สร้างขึ้นต้องถูกโอนให้เป็นของรัฐบาลไทย และบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดังนั้นดาวเทียมไทยคม จึงมิใช่ทรัพย์สินของประเทศสิงคโปร์

จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่าดาวเทียมไทยคม เป็นกิจการที่บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) (เดิมมีชื่อว่า บริษัท ชินวัตรแซทเทลไลท์ จำกัด) ได้ตกลงรับดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ตามที่บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) (เดิมมีชื่อว่า บริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด) ได้ทำสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2534 กับกระทรวงคมนาคม มีกำหนดระยะเวลา 30 ปี บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ได้รับสิทธิในการบริหารกิจการและการให้บริการวงจรดาวเทียม โดยยินยอมให้ดาวเทียมทุกดวงที่จัดตั้งขึ้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงที่เป็นคู่สัญญา ตามเงื่อนไขในสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ฉบับลงวันที่ 11 กันยายน 2534 และสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 1 ถึงฉบับที่ 6 ซึ่งปัจจุบันสัญญาดังกล่าวได้เปลี่ยนโอนมาอยู่ภายใต้การดูแลรับผิดชอบของกระทรวงเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสารแล้ว และบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2537

แต่จากการตรวจสอบตามข้อมูลทะเบียนผู้ถือหุ้นและรายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ณ วันที่ 17 มีนาคม 2553 ปรากฏชื่อบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับแรกมีสัดส่วนการถือหุ้น 41.14% จำนวน 450,870,934 หุ้น และตามข้อมูลทะเบียน ผู้ถือหุ้นและรายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ณ วันที่ 9 มีนาคม 2553 ปรากฏชื่อบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับแรก มีสัดส่วนการถือหุ้น 54.432% จำนวน 1,742,407,239 หุ้น และบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับที่สอง มีสัดส่วนการถือหุ้น 41.685% จำนวน 1,334,354,825 หุ้น โดยทั้งบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ เป็นบริษัทย่อยทางอ้อมของบริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จำกัด กรณีนี้จึงสรุปความเกี่ยวพันได้ว่า ขณะเกิดเหตุเมื่อปี 2553 บริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จำกัด ประเทศสิงคโปร์ ถือเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับแรกของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) โดยการถือหุ้นผ่านทางบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อยทางอ้อม

๒.๒ ดาวเทียมไทยคมเป็นดาวเทียมสื่อสารเชิงพาณิชย์ จึงไม่เกี่ยวกับกิจการทางความมั่นคงตามที่ผู้ถูกร้องทั้ง 3 ราย ได้แพร่ข่าว

จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่ากรณีที่ผู้ถูกร้องทั้ง 3 ราย ให้สัมภาษณ์ข่าวต่อสื่อว่ารัฐบาลมีแนวคิดที่จะซื้อกิจการดาวเทียมไทยคมคืนจากบริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จำกัด โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศนั้น เป็นการให้ข้อมูลตามความจริง เนื่องจากโดยแท้จริงแล้วบริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จำกัด มีความเกี่ยวพันถือเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับแรกของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) โดยถือหุ้นผ่านทางบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อยทางอ้อมอีกชั้นหนึ่ง ส่วนประเด็นเรื่องความมั่นคงของประเทศนั้น เป็นกรณีที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง เมื่อเดือนเมษายน 2553 ซึ่งสถานีโทรทัศน์พีเพิ้ลชาแนล (People Channel) ได้ทำการเสนอข่าวที่เป็นการฝ่าฝืนตามข้อกำหนดที่ออกใช้บังคับในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยทางหน่วยงานที่ควบคุมดูแลสถานการณ์ไม่สามารถควบคุมหรือจัดการให้บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ยุติการส่งสัญญาณให้กับสถานีโทรทัศน์ดังกล่าว จึงต้องขอความร่วมมือไปยังบริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จำกัด

จากพยานหลักฐานดังกล่าว จึงรับฟังไม่ได้ว่าการให้สัมภาษณ์ข่าวของผู้ถูกร้องทั้ง 3 ราย เป็นการแพร่ข่าวอันเป็นความเท็จ ข้อกล่าวหาในประเด็นนี้ไม่มีมูล

ประเด็นที่ 3 การให้สัมภาษณ์ข่าวของผู้ถูกร้องทั้ง 3 ราย เป็นการเอื้อให้บุคคลบางกลุ่มได้รับประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายจากการซื้อขายหุ้นบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือไม่

จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่าสภาพการซื้อขายหุ้นบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากทั้งด้านราคาและปริมาณการซื้อขาย ตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์เปิดทำการซื้อขายในช่วงเช้าของวันที่ 14 มิถุนายน 2553 แต่การให้สัมภาษณ์ข่าวเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวของนายอภิสิทธิ์ และนายศิริโชค เป็นการให้สัมภาษณ์ภายหลังจากที่ราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นได้ปรับตัวสูงขึ้นแล้ว จึงน่าเชื่อว่าสภาพการซื้อขายหุ้นบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้นเป็นปฏิกิริยาที่เกิดจากข่าวที่เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์และหนังสือพิมพ์ มิใช่เกิดจากการให้สัมภาษณ์ ประกอบกับนายอภิสิทธิ์ และนายศิริโชค ไม่ได้เริ่มต้นให้ข่าวเอง แต่เป็นการตอบข้อซักถามของผู้สื่อข่าวเท่านั้น การกระทำของนายอภิสิทธิ์ และนายศิริโชค จึงไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 238 มาตรา 239 หรือมาตรา 240 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ส่วนการให้สัมภาษณ์ข่าวของนายกรณ์ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2553 นั้น เป็นการให้สัมภาษณ์หลังจากตลาดหลักทรัพย์ได้ปิดทำการซื้อขายแล้ว โดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์ข้อมูลใหม่อย่างอื่น จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาตามมาตรา 238 มาตรา 239 หรือมาตรา 240 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

นอกจากนี้ จากการสอบทานข้อมูลการซื้อขายหลักทรัพย์ของผู้ถูกร้อง บุคลากรของกระทรวงการคลังและบริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) รวมถึงบุคคลในคณะรัฐบาล ไม่พบว่ามีการซื้อขายหุ้นบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) พบเพียงบุคคลที่มีนามสกุลคล้ายกับบุคคลในคณะรัฐบาลซื้อขายหุ้น จำนวน 16 ราย แต่ตรวจสอบพฤติกรรมการซื้อขายแล้ว ไม่เข้าข่ายเป็นการใช้ข้อมูลภายในแต่อย่างใด ส่วนกรณีที่มีผู้ต้องสงสัยที่ซื้อหุ้นบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) จำนวนมากในลักษณะน่าสังเกต จำนวน 2 ราย นั้น จากผลการตรวจสอบไม่มีข้อมูลที่จะบ่งชี้ว่าเป็นการซื้อหุ้นอันฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้พิจารณาแล้ว มีความเห็นว่าราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ในช่วงวันที่ 14-15 มิถุนายน 2553 ที่มีอัตราส่วนการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นกว่าปกติจนน่าสังเกตนั้น เป็นไปตามกลไกปกติของตลาดที่มีผู้ลงทุนจำนวนมากสนใจซื้อขายหุ้นนั้นในช่วงเวลาเดียวกันซึ่งเป็นช่วงสั้นๆ จากอิทธิพลของข่าวที่ปรากฏตามสื่อมวลชนในขณะนั้น โดยไม่พบข้อมูล ที่แสดงว่ามีการสร้างราคาหลักทรัพย์โดยบุคคลใด จึงเห็นควรยุติการตรวจสอบกรณีดังกล่าว

จากพยานหลักฐานดังกล่าว จึงรับฟังไม่ได้ว่าการให้สัมภาษณ์ข่าวของผู้ถูกร้องทั้ง 3 ราย เป็นการเอื้อให้บุคคลบางกลุ่มได้รับประโยชน์จากการซื้อขายหุ้นบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) โดยมิชอบ ข้อกล่าวหาในประเด็นนี้ไม่มีมูล

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกร้องทั้ง ๓ ราย มีพฤติการณ์ส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่ง หน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีเผยแพร่ข่าวต่อสาธารณชนว่ารัฐบาลมีแนวคิดที่จะซื้อคืนกิจการดาวเทียมไทยคม ตามที่กล่าวหา จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป ให้ส่งรายงานไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานวุฒิสภาต่อไป ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 54

จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม