"ผลประกอบการของกลุ่มทิสโก้ ในไตรมาส 3 และงวด 9 เดือนของปี 2559 ปรับตัวดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการบริหารธุรกิจที่มีประสิทธิภาพเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ อีกทั้งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน ทั้งนี้ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ ทิสโก้ (TISCO ESU) ยังได้ปรับประมาณการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปี 2559 จากร้อยละ 3.0 ขึ้นมาอยู่ที่ ร้อยละ 3.4 โดยในช่วงที่เหลือของปีเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง" นางอรนุช กล่าว
สำหรับในไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 ทิสโก้ยังคงเดินหน้ากลยุทธ์การดำเนินธุรกิจตามแผนงานเดิมที่วางไว้ โดยมุ่งเน้นการบริหารต้นทุนเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียม ด้านธุรกิจจัดการกองทุนและธุรกิจนายหน้าประกันภัย เดินหน้าขยายธุรกิจสินเชื่อรายย่อย รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์และระบบเทคโนโลยีให้ทันสมัย เพื่อเข้าสู่การให้บริการดิจิทัลแบงก์กิ้งอย่างเต็มตัว และสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
สรุปผลประกอบการไตรมาส 3/2559
ผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้ ไตรมาส 3 ปี 2559 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า มีกำไรสุทธิจำนวน 1,249.96 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.4 เป็นผลมาจากมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 จากความสามารถในการรักษาอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อรวม และการบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากธุรกิจหลักเติบโตร้อยละ 12.9 จากการฟื้นตัวของธุรกิจตลาดทุน โดยรายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.3 และรายได้ค่าธรรมเนียมของธุรกิจจัดการกองทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.0 จากการเพิ่มขึ้นของค่าธรรมเนียมที่ผันแปรตามผลประกอบการของกองทุน ในขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ลดลงร้อยละ 1.7 ตามการชะลอตัวของธุรกิจการให้สินเชื่อ นอกจากนี้ การตั้งสำรองหนี้สูญลดลงร้อยละ 49.1 จากคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม กลุ่มทิสโก้มีการตั้งสำรองหนี้สูญอยู่ในระดับที่ระมัดระวัง จากการตั้งสำรองแก่ลูกหนี้กลุ่มสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และการตั้งสำรองหนี้สูญส่วนเกินเพื่อรองรับความผันผวนทางธุรกิจ
ส่วนเงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 30 กันยายน 2559 มีจำนวน 226,436.74ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.9 จากไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับผลกระทบจากการอ่อนตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ในภาวะการบริโภคภาคครัวเรือนที่ฟื้นตัวช้าและยอดขายรถยนต์ภายในประเทศที่ยังชะลอตัว ประกอบกับการชำระคืนหนี้ของกลุ่มสินเชื่อธุรกิจ อย่างไรก็ดี สินเชื่ออเนกประสงค์ยังคงปรับตัวดีขึ้นตามแผนการขยายธุรกิจของกลุ่มทิสโก้ นอกจากนี้ กลุ่มทิสโก้ได้ซื้อพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ มูลค่า 762 ล้านบาท เพื่อขยายฐานธุรกิจและเสริมสร้างการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ในขณะเดียวกัน หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มทิสโก้มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จากการปรับตัวดีขึ้นของคุณภาพสินเชื่อโดยรวม และมีอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมคงที่ที่ร้อยละ 3.04
กลุ่มทิสโก้ยังคงสามารถควบคุมต้นทุนการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยังคงอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้รวมอยู่ในระดับต่ำ ที่ร้อยละ 38.2 นอกจากนี้ ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งมาโดยตลอดทั้งปี โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์ (BIS Ratio) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 19.9 สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำร้อยละ9.125 ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ร้อยละ 15.2 และร้อยละ 4.7 ตามลำดับ