ผู้ปกครอง 70.34% เชื่อว่าครูที่ลงโทษเด็กนักเรียนด้วยวิธีที่ไม่เหมาะสมรุนแรงเกินกว่าเหตุนั้นเกิดจากความตั้งใจมากกว่าอารมณ์ชั่ววูบ ร้อยละ 53.4 ยอมรับว่ารู้สึกกลัวว่าบุตรหลานของตนจะถูกครูอาจารย์ลงโทษด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสมรุนแรงเกินกว่าเหตุ

พุธ ๑๒ ตุลาคม ๒๐๑๖ ๑๕:๔๖
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อพฤติกรรมการลงโทษนักเรียนของครูอาจารย์ในสถาบันการศึกษา ซึ่งได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 2 ถึง 7 ตุลาคม พ.ศ. 2559 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,133 คน

ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า การลงโทษเด็กนักเรียนโดยครูอาจารย์จัดเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการอบรมสั่งสอนขัดเกลาจิตใจที่มีใช้กันมาตั้งแต่ในอดีตและเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปในสังคม ซึ่งครูอาจารย์นิยมนำมาใช้ในการดูแลควบคุมเด็กนักเรียนภายในสถาบันการศึกษาเพื่อทำให้เด็กนักเรียนที่กระทำความผิดเกิดความหลาบจำและไม่กล้ากระทำความผิดซ้ำอีก รวมถึงเพื่อเป็นการปรามเด็กนักเรียนคนอื่นไม่ให้กระทำความผิดด้วย อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีข่าวปรากฏตามสื่อต่างๆอยู่เป็นระยะเกี่ยวกับครูอาจารย์ที่มีพฤติกรรมการลงโทษเด็กนักเรียนด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสมรุนแรงเกินกว่าเหตุ ซึ่งในหลายกรณีกลายเป็นการทำร้ายร่างกายเด็กนักเรียนให้บาดเจ็บรวมถึงทำให้เด็กนักเรียนเกิดความหวาดกลัวจนไม่อยากไปเรียนหนังสือ ทั้งนี้พ่อแม่ผู้ปกครองรวมถึงผู้คนทั่วไปในสังคมจึงมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงพฤติกรรมของครูอาจารย์ที่เกิดขึ้นและเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาการลงโทษด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสมรุนแรงเกินกว่าเหตุของครูอาจารย์ให้มีความชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งเรียกร้องให้มีมาตรการลงโทษที่เด็ดขาดมากกว่าการสั่งพักงานหรือสั่งให้ย้ายไปสอนยังสถาบันการศึกษาแห่งอื่น จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อพฤติกรรมการลงโทษนักเรียนของครูอาจารย์ในสถาบันการศึกษา

ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดซึ่งเป็นเพศหยิงร้อยละ 51.81 และร้อยละ 48.19 เป็นเพศชาย ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้าง/พนักงานในห้างร้านหรือบริษัทเอกชน สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความคิดเห็นต่อการลงโทษเด็กนักเรียน กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 68.49 เห็นด้วยว่าการลงโทษของครูอาจารย์ถือเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการอบรมสั่งสอนเด็กนักเรียนในสถาบันการศึกษา ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 22.86 ไม่เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.65 ไม่แน่ใจ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 61.52 มีความคิดเห็นว่าการลงโทษด้วยวิธีการที่เหมาะสมของครูอาจารย์จะมีส่วนช่วยลดโอกาสที่เด็กนักเรียนผู้นั้นจะกลับมากระทำผิดในเรื่องเดิมซ้ำอีกได้ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 59.84 มีความคิดเห็นว่าการลงโทษด้วยวิธีการที่เหมาะสมของครูอาจารย์จะมีส่วนช่วยปรามเด็กนักเรียนคนอื่นมิให้กระทำผิดได้ และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 69.73 มีความคิดเห็นว่าการลงโทษของครูอาจารย์จะมีส่วนช่วยทำให้เด็กนักเรียนโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของสังคมและทำประโยชน์ให้กับประเทศได้

ในด้านความรับรู้ ความรู้สึก และความคิดเห็นต่อพฤติกรรมการลงโทษด้วยวิธีการที่รุนแรงเกินกว่าเหตุของครูอาจารย์ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.19 ให้ความสนใจติดตามข่าวเกี่ยวกับครูอาจารย์ที่มีพฤติกรรมการลงโทษเด็กนักเรียนที่ไม่เหมาะสม/รุนแรงเกินกว่าเหตุจนทำให้เด็กนักเรียนได้รับอันตรายทั้งทางกาย/จิตใจ เช่น การขว้างสิ่งของใส่ การถีบ/เตะ การตบศีรษะ/ใบหน้า การชก/ต่อย เป็นต้น ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 39.81 ไม่ให้ความสนใจ ขณะเดียวกันเมื่อทราบข่าวเกี่ยวกับครูอาจารย์ที่มีพฤติกรรมการลงโทษเด็กนักเรียนด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม/รุนแรงเกินกว่าเหตุจนทำให้เด็กนักเรียนบาดเจ็บ/หวาดกลัว กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 33.63 รู้สึกโกรธ/โมโหครูอาจารย์เป็นอันดับแรก รองลงมามีความรู้สึกสงสารเด็กนักเรียนที่ถูกกระทำ/พ่อแม่ผู้ปกครองและรู้สึกสงสัยในข้อเท็จจริงซึ่งคิดเป็นร้อยละ 18.36 และร้อยละ 16.59 ตามลำดับ

นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 53.4 ยอมรับว่าตนเองรู้สึกกลัวว่าบุตรหลานของท่านจะถูกครูอาจารย์ลงโทษด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม/รุนแรงเกินกว่าเหตุจนได้รับอันตราย ส่วนกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 70.34 มีความคิดเห็นว่าการที่ครูอาจารย์ลงโทษเด็กนักเรียนด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม/รุนแรงเกินกว่าเหตุจนทำให้เด็กนักเรียนบาดเจ็บ/หวาดกลัวนั้นเกิดจากความตั้งใจมากกว่าอารมณ์ชั่วงูบ

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการย้ายให้ไปสอนยังสถาบันการศึกษาแห่งอื่นกับการให้หยุดการสอนของครูอาจารย์ที่มีพฤติกรรมลงโทษเด็กนักเรียนด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม/รุนแรงเกินกว่าเหตุจนทำให้เด็กนักเรียนบาดเจ็บ/หวาดกลัวนั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 76.08 มีความคิดเห็นว่าควรให้หยุดการสอน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 23.92 มีความคิดเห็นว่าควรให้ย้ายไปสอนยังสถาบันการศึกษาแห่งอื่น ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 57.37 มีความคิดเห็นว่าควรมีการกำหนดบทลงโทษกับผู้บริหารสถาบันการศึกษาของครูอาจารย์ที่มีพฤติกรรมการลงโทษเด็กนักเรียนที่ไม่เหมาะสม/รุนแรงเกินกว่าเหตุจนทำให้เด็กนักเรียนบาดเจ็บ/หวาดกลัวด้วย กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 55.16 มีความคิดเห็นว่าหากมีการกำหนดวิธีปฏิบัติในการลงโทษเด็กนักเรียนของครูอาจารย์ไว้อย่างชัดเจนจะมีส่วนช่วยลดปัญหาพฤติกรรมการลงโทษที่ไม่เหมาะสม/รุนแรงเกินกว่าเหตุจนทำให้เด็กนักเรียนบาดเจ็บ/หวาดกลัวของครูอาจารย์ได้ และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 68.31 มีความคิดเห็นว่าควรมีการกำหนดให้ประเมินความมีวุฒิภาวะ/ลักษณะสภาวะทางอารมณ์/ความพร้อมของจิตใจของครูอาจารย์ในสถาบันการศึกษาเป็นประจำ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version