นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี (สคร.10) เปิดเผย ข้อมูลเฝ้าระวังการบาดเจ็บ ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า การบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกเปลวหรือสะเก็ดดอกไม้ไฟหรือพลุ จากโรงพยาบาลเครือข่ายเฝ้าระวังการบาดเจ็บแห่งชาติ 33 แห่ง ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ระหว่างปี 2554–2558) มีจำนวน 3,326 ราย (เฉลี่ยปีละ 665 ราย) ในจำนวนนี้เสียชีวิต 10 ราย ล่าสุดในปี 2558 มีผู้บาดเจ็บ 532 ราย เสียชีวิต 1 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย (93.23%) กลุ่มอายุที่พบบ่อยคือ 15-19 ปี (13.16%) รองลงมาคือ อายุ 60 ปีขึ้นไป (12.41%) และอายุ 20-24 ปี (11.65%)
นพ.ศรายุธ กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลพบว่ากลุ่มเด็กและเยาวชนน่าเป็นห่วงที่สุด เพราะอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ซื้อประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ มาจุดเล่นเองตามลำพังหรือในกลุ่มเพื่อนรุ่นเดียวกัน ทำให้มีโอกาสที่จะได้รับบาดเจ็บที่รุนแรง อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น กรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือ ให้ผู้ปกครองสอนเด็กว่าประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุไม่ใช่ของเล่นและเป็นอันตรายสำหรับเด็ก และห้ามเด็กจุดประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ เองเด็ดขาด หากมีการจุดไม่ควรให้เด็กอยู่ใกล้บริเวณนั้นๆรวมถึงผู้ปกครองต้องดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เด็กต้องอยู่ในการดูแลของผู้ใหญ่ตลอดเวลา
ส่วนการจุดประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุสำหรับผู้ใหญ่ เพื่อความปลอดภัยในการเล่นควรปฏิบัติดังนี้ 1.ต้องอ่านคำแนะนำก่อนจุดชนวน ซึ่งการจุดชนวนต้องจุดให้ห่างจากตัวประมาณ 1 ช่วงแขน 2.เล่นในบริเวณที่โล่งแจ้งเพื่อป้องกันสะเก็ดไฟกระเด็นไปติดวัสดุหรือเชื้อเพลิง และหลีกเลี่ยงการเล่นใกล้บริเวณบ้านเรือน ใบไม้แห้ง วัตถุไวไฟ แนวสายไฟฟ้า 3.ควรสวมเสื้อผ้าที่เป็นผ้าฝ้าย ไม่ควร สวมเสื้อผ้าที่เป็นใยสังเคราะห์เพราะอาจจะติดไฟง่าย 4.ควรเตรียมภาชนะที่บรรจุน้ำไว้ใกล้กับบริเวณที่เล่น เผื่อไว้ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น ดับเพลิงที่จุดแล้วไม่ติด และ 5.ห้ามประกอบหรือดัดแปลงประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ ไว้เล่นเองโดยเด็ดขาด ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วมาเล่นเพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุและบาดเจ็บได้ง่าย
ทั้งนี้ อันตรายจากการจุดประทัด ดอกไม้ไฟ หรือพลุ มีผลกระทบต่อสุขภาพในหลายด้าน อาทิ 1. อันตรายจากการเกิดไฟไหม้และการระเบิด จะเกิดความเสียหายต่อชีวิต การบาดเจ็บ และทรัพย์สินได้ 2.อันตรายจากการได้รับสารเคมี เช่น สารแบเรียมไนเตรต ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อหู ตา จมูก และผิวหนัง ทำลายตับ ม้าม และเกิด อัมพาตที่แขน ขา และบางรายอาจทำให้เสียชีวิตได้ 3.อันตรายจากความดังของเสียงระเบิดมีระดับเสียงกระแทกสูงถึง 130 เดซิเบล เอ มีผลทำให้เราเกิดอาการหูตึงชั่วคราว แต่หากได้ยินติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลทำให้เกิดอาการหูตึงถาวร 4.อันตรายจากความร้อนของประทัด ดอกไม้ไฟ หรือพลุ สามารถทำให้ผิวหนังไหม้ได้
หากประชาชนพบเห็นผู้ได้รับบาดเจ็บจากการจุดประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ ขอให้รีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร 1669 หากประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 /นพ.ศรายุธ กล่าวปิดท้าย