"แต่ถ้าบนเครื่องบินหนึ่งลำมีพนักงานของสายการบิน 10 คนเท่านั้นที่ใส่ใจและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมคงไม่มีประโยชน์มากนัก เพราะปัจจัยที่มีผลมากที่สุดกับธุรกิจการบินคือผู้โดยสารอีกประมาณ 300 ชีวิตบนเครื่องบินลำเดียวกัน เราจึงคิดแคมเปญ Travel Green Reward ขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ผู้โดยสารมีส่วนร่วมในการรักษ์โลกร่วมกับสายการบินได้ตามความสมัครใจ"
ไอเดียนี้ ทำให้ผู้โดยสารสามารถร่วมแคมเปญเดินทางรักษ์โลกกับ Travel Green Reward เพื่อรับของรางวัลและไมล์สะสม เริ่มตั้งแต่การจองตั๋ว ยกตัวอย่างเช่น ผู้โดยสารสามารถเลือกได้ว่าจะใช้ e-boarding pass หรือpaper-boarding pass ถ้าหากเลือก e-boarding pass โปรแกรมจะคำนวณให้เห็นว่าเพียงผู้โดยสารเลือกที่จะไม่ใช้กระดาษ 2 แผ่น ก็อาจช่วยลด carbon footprint ได้ถึง 100 กรัมคาร์บอน ซึ่งผู้โดยสารจะได้กลับมาเป็นคะแนนสะสมจากสายการบินเพื่อนำไปแลกรับของรางวัล หรือการเลือกอาหารบนเครื่องบิน โปรแกรมก็จะคำนวณให้เห็นว่าอาหารแต่ละชนิดนั้นปล่อยคาร์บอนเท่าไหร่ ถ้าผู้โดยสารเลือกประเภทอาหารที่ปล่อยคาร์บอนน้อยก็จะได้คะแนนสะสมไป
พงศธร ได้กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้สายการบินเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้มากที่สุดคือ น้ำหนักสัมภาระของผู้โดยสารทั้ง 300 กว่าคน สมมติว่าเครื่องบินหนึ่งลำมีน้ำหนัก 3 ตัน หากเพียงแค่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอีก 5 กิโลกรัม เครื่องบินจะต้องใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นอีกเกือบหนึ่งแกลลอน ซึ่งแปลว่าต้องใช้เชื้อเพลิงเพิ่มมากขึ้น เพราะน้ำมันที่เพิ่มขึ้นทำให้เครื่องบินต้องรับน้ำหนักมากขึ้นอีก ดังนั้นจึงต้องเติมน้ำมันส่วนเกินมาแบกน้ำมันส่วนที่เพิ่มขึ้นอีกโดยเฉพาะเส้นทางบินต่างประเทศที่มีระยะทางไกล
"อย่าลืมว่ายิ่งเครื่องบินรับน้ำหนักมากก็ต้องใช้เชื้อเพลิงมาก และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากขึ้น เราจึงคิดว่าการที่ผู้โดยสารช่วยลดน้ำหนักสัมภาระทุก 1 กิโลกรัมมีความหมายมากๆ ยกตัวอย่างเช่น เที่ยวบินจากกรุงเทพฯ ไปโตเกียว ระยะทาง 2,889 ไมล์ มีผู้โดยสาร 365 คน ถ้าแต่ละคนช่วยกันลดน้ำหนักสัมภาระลงบ้าง ก็จะช่วยลดน้ำหนักที่เครื่องบินต้องแบกรับได้ถึง 5.84 ตันต่อเที่ยวบิน และช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้ 27.15 ตัน ต่อเที่ยวบิน หรือ 6,950.40 ตันต่อวัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เทียบเท่ากับการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์ภายใน 1 วัน จำนวน 3.47 ล้านคัน นอกจากนั้นยังช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงได้มากถึง 2,809 แกลลอนต่อเที่ยวบิน หรือ 719,104 แกลลอนต่อวัน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิงได้ถึง 346,550.48 บาท ต่อเที่ยวบิน หรือ 80 กว่าล้านบาทต่อวัน"
อย่างไรก็ตามแคมเปญดังกล่าวเป็นแนวคิดที่นักศึกษาจาก มจธ. กลุ่มนี้ส่งเข้าประกวดในโครงการประกวดนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมการบิน ครั้งที่ 2 หรือ Travel Green Innovation ที่จัดโดยการบินไทย ซึ่งทั้งสามคนได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวด ประเภทการออกแบบรูปแบบการบริการของสายการบิน ซึ่งได้รับการคัดเลือกโดยบริษัทแอร์บัสสำนักงานใหญ่ ประเทศฝรั่งเศส และในเดือนตุลาคมนี้ ทั้งสามคนจะต้องเดินทางไปเสนอแนวคิดดังกล่าวต่อบอร์ดบริหารของบริษัทแอร์บัสสำนักงานใหญ่ที่ประเทศฝรั่งเศสอีกครั้ง.