นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมยุค 4.0 เป็นคำที่ใช้เรียกโดยภาคเอกชน มีการนำเสนอครั้งแรก ในงานนิทรรศการ แฮนโนเวอร์เมส (Hannover Messe) ที่ประเทศเยอรมนี เมื่อปี 2554 กล่าวถึงทิศทางการปรับตัวของอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริการในหลากหลายรูปแบบ อาทิ เช่น การใช้เทคโนโลยีไอซีทีกับเครื่องจักรเพื่อผลิตสินค้าจำนวนมากๆ แต่สามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะของแต่ละบุคคล (Mass-customized production) เครื่องจักร และหน่วยผลิตสามารถสื่อสารกันเองได้โดยอัตโนมัติ การจัดเก็บข้อมูลและใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เชื่อมโยงกับระบบธุรกิจเพื่อให้สื่อดิจิตอลสามารถปฏิสัมพันธ์ระหว่างโลกดิจิตอลและโลกแห่งความเป็นจริง ฯลฯ ทำให้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจและการแข่งขันทางการตลาดจะเปลี่ยนไป
ทั้งนี้ ทิศทางการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการเท่านั้น แต่จะเกิดขึ้นกับกิจกรรมและสิ่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ความสำเร็จในอดีตจะไม่สามารถรับประกันอะไรได้เลย การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนอยู่ที่ว่าจะช้าหรือเร็ว ผู้ประกอบการของไทยจะต้องรู้เท่าทันและเตรียมพร้อมเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และจะต้องมีระบบการจัดการธุรกิจที่เหมาะสม อาทิ คุณภาพ ความปลอดภัย กฎระเบียบ ความต้องการ และความคาดหวังของลูกค้า ฯลฯ ซึ่งจะเชื่อมโยงโดยตรงต่อความเสี่ยง โอกาส และความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้สามารถปรับตัวได้กับเงื่อนไขใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างรวดเร็วเท่านั้นจึงจะสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน
"สภาอุตสาหกรรมฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การลงนามความร่วมมือด้านมาตรฐานสากลที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ยุคอุตสาหกรรม 4.0 กับ บริษัท ทูฟ นอร์ด (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรม 4.0 ในประเทศเยอรมนี อีกทั้ง สถาบัน ทูฟ นอร์ด ยังเป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบด้านมาตรฐานสากลที่เก่าแก่กว่า 140 ปี ในเยอรมนี ในครั้งนี้ จะช่วยพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และยกระดับผู้ประกอบการไทยตามนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป" ประธาน ส.อ.ท. กล่าว
ด้านนาย พิทักษ์ สุภนันการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทูฟ นอร์ด (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าอุตสาหกรรมยุค 4.0 เป็นทิศทางการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริการในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งมิติทางการแข่งขันเชิงบริการก็เปลี่ยนแปลงไป การบริการต่างๆเปลี่ยนไปโดยมีการผนวกรวมเทคโนโลยีต่างๆ เกิดโมเดลธุรกิจ และมิติทางการแข่งขันที่แตกต่างไปจากเดิม ธุรกิจที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรับมือได้ก็จะสูญเสียสถานะทางการแข่งขัน (Competitive advantage) การบริการและโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่จะอำนวยประโยชน์ต่อภาคผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการให้บริการกับสาธารณะและภาคสังคมก็จะไม่รองรับกับความต้องการที่ ที่เปลี่ยนไป ซึ่งความท้าท้ายที่ประเทศไทยจะต้องตระเตรียมเพื่อรับมือกับบริบทใหม่ "อุตสาหกรรม4.0" และ "ไทยแลนด์ 4.0" ได้แก่
· กลไก โครงสร้าง กฎระเบียบ และบทบาทภาครัฐที่เปลี่ยนไป – หากไม่ปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับทิศทางนี่ ก็เท่ากับเป็นอุปสรรคขนาดใหญ่เชิงระบบของรัฐ
· โครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที ไซเบอร์ และดิจิตอลระดับประเทศที่จะสามารถรองรับและสอดประสานกับการเคลื่อนตัวด้านเทคโนโลยีระดับสากล
· กรอบ กลไก และระบบกฎหมายของประเทศ
· ความเชี่ยวชาญและชุดของทักษะใหม่ที่จำเป็น (Set of skills and key competency)
· ความคิด (mindset) ของผู้คนระดับต่างๆของทั้งหน่วยงานภาครัฐผู้กำหนดนโยบายและภาคอุสาหกรรมผู้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมทั้งภาคประชาชน
· กฎระเบียบ ระบบความปลอดภัยพื้นฐานด้านบริการทางการเงินของประเทศ การธนาคาร บริการทางการเงินของธนาคารและภาคบริการ
· วัฒนธรรมสากลที่จะรองรับและสร้างสรรค์โอกาสใหม่ๆ จากการแลกเปลี่ยนและการเดินทางของผู้คนในโลก
ความท้าทายดังกล่าวนี้อาจถือเป็นจุดหักเห หรือจุดเปลี่ยนที่สำคัญของประเทศไทยที่ทุกภาคส่วนจะต้องนำมาประเปลี่ยนและตระเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับกระบวนทัศน์ใหม่ (New paradigm) ซึ่งสิ่งที่เป็นพลวัตแห่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเกิดขึ้นแน่นอนในทุกมิติ และจะไม่สามารถหยุดยั้งหรือเปลี่ยนทิศทางได้ หากไม่สามารถทำความเข้าใจและปรับตัวได้อย่างเหมาะสมกับเงื่อนไข และสภาพแวดล้อมของกระแสใหม่ของโลก ก็เชื่อว่าจะส่งผลกระทบเชิงลบระดับประเทศในแทบทุกด้าน เช่น ทางเศรษฐกิจ สังคม ความปลอดภัยและความมั่นคงด้านอื่นๆ ของประเทศ..