นายโทมัส โครเมทซ์กา ผู้อำนวยการโครงการพลังงานทดแทน องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทยนายสุชาลี สุมามาลย์ ผู้ตรวจการ กระทรวงพลังงานนายกณพงศ์ เทพากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กระทรวงพลังงานและคริสทีเนอ ฟัลเค่น-โกรเสอร์ ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย
ที่งานสัมมนาโครงการพลังงานทดแทนชุมชน ไทย-เยอรมัน ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย และกระทรวงพลังงาน ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ ปาร์ค โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันระหว่างชุมชน บริษัทพลังงานทดแทนและผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ อันนำไปสู่การประเมินรูปแบบธุรกิจและเทคโนโลยีล่าสุดสำหรับพลังงานทดแทนในระดับชุมชน โดยเน้นการสื่อสาร สนทนาโต้ตอบกัน ตลอดจนเป็นการขยายฐานเครือข่ายชุมชนพลังงานทดแทนในประเทศไทย
ตัวแทนชุมชนกว่า 30 ชุมชน จากภูมิภาคต่างๆ ในประเทศไทยเข้าร่วมเสวนาวันนี้ในหัวข้อ ชุมชนจะใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นได้อย่างไร ในปีนี้ประเทศไทยได้ลงนามให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีอนุสัญญากรุงปารีสที่มีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากภาคพลังงานถือเป็นหนึ่งภาคส่วนหลักที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงจำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วน
นายสุชาลี สุมามาลย์ ผู้ตรวจการ กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า "ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานทดแทนที่มีอยู่มากทั้งในด้านพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวภาพ และพลังงานลม พลังงานทดแทนไม่เพียงแต่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศแต่ยังสร้างมูลค่าแก่ชุมชนท้องถิ่นทั้งการสร้างงาน สร้างรายได้ ตอบสนองนโยบายการขับเคลื่อนภาคพลังงานตามนโยบาย Energy 4.0 ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างรายได้และลดรายจ่ายให้กับประชาชนและชุมชนในประเทศ"
กระทรวงพลังงานมีหน่วยงานที่มีภารกิจส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในชุมชน โดยนายกณพงศ์ เทพากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า"เรามีเป้าหมายที่จะสนับสนุนให้จังหวัดและชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากศักยภาพพลังงานทดแทนในพื้นที่ของตนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงเศรษฐกิจและพลังงานของเยอรมนีในเรื่องนี้"
เพื่อตอบสนองต่อวิสัยทัศน์ของกระทรวงพลังงานในการผลักดันให้เกิดโครงการพลังงานทดแทนระดับชุมชน ตัวแทนจากชุมชนจังหวัดหน่วยงานราชการและภาคเอกชน ประมาณ 150 คนเข้าร่วมสัมมนาเกี่ยวกับแนวคิดและรูปแบบโครงการที่สามารถนำไปสู่การดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมของชุมชนในประเทศไทย งานสัมมนาโครงการพลังงานทดแทนชุมชนไทย-เยอรมัน ครั้งที่ 2 ร่วมจัดโดยกระทรวงพลังงานและองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานทดแทนของไทยและเยอรมันร่วมให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะแก่ผู้เข้าร่วมในหัวข้อพลังงานชีวภาพ พลังงานแสงอาทิตย์ และระบบกริดแบบผสมผสานบนเกาะ เพื่อการออกแบบโครงการที่เป็นไปได้และนำเสนอวิธีแก้ปัญหาด้านเทคนิคแก่ผู้เข้าร่วม
นายโทมัส โครเมทซ์กา ผู้อำนวยการโครงการพลังงานทดแทน GIZ กล่าวว่า "เป็นเรื่องที่ดีมากที่ได้เห็นความกระตือรือร้นของชุมชนและบริษัทที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดความก้าวหน้าด้านพลังงานทดแทนในประเทศไทย GIZ และกระทรวงพลังงานจะยังคงสนับสนุนชุมชนในด้านเทคนิคและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการออกแบบรูปแบบธุรกิจที่เหมาะสมกับพลังงานทดแทนระดับชุมชนที่มีความสำคัญมากในการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในโครงการพลังงานทดแทนระดับชุมชน"