ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) กรรมการบริหารสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย และรู้จักกับสภาองค์การลูกจ้างหลายแห่ง ได้เคยเสนอไว้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2554 (bit.ly/1KnllHa) และมกราคม 2559 (bit.ly/1J29hkV) ว่าเราน่าจะมีสหภาพแรงงานประเมินค่าทรัพย์สิน โดยรวมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินระดับลูกจ้างทั้งหมดเป็นสหภาพแรงงานโดยไม่มีการแบ่งแยกเป็นบริษัท โดยการรวมตัวเป็นสหภาพนี้ จะ
1. เป็นการพัฒนาความร่วมมือกับ "นายจ้าง" อย่างมีประสิทธิภาพด้วยความเข้าใจร่วมกัน
2. ทำให้ผู้ประเมินมีอิสระทางวิชาชีพมากยิ่งขึ้นเพื่อประโยชน์ต่อผู้บริโภค
3. สร้างความเข้มแข็งให้กับวิชาชีพโดยผู้ปฏิบัติงานโดยตรง
4. สร้างความโปร่งใสในวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สิน
5. คุ้มครองสิทธิของ "ลูกจ้าง" โดยความร่วมมือร่วมกัน
6. ร่วมกันบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม
7. จัดการศึกษาให้แก่ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินกันเองโดยมีคุณภาพดีในค่าใช้จ่ายที่ประหยัดที่สุด
ดร.โสภณ กล่าวว่า ตนมีสถานะเป็นนายจ้างในวงการประเมินค่าทรัพย์สินไทย แม้จะมั่นใจว่าเป็นนายจ้างที่ดี ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานโดยเคร่งครัด ยิ่งกว่านั้นยังจัดหาสวัสดิการอื่นให้เป็นอย่างดี แต่ความกรุณาของนายจ้างก็เป็นเรื่องหนึ่ง สิทธิของลูกจ้างก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
วันหนึ่งผู้บริหาร (แม้แต่ ดร.โสภณ) ก็อาจเปลี่ยนไป กลายเป็นคนไม่ดี สั่งผู้ประเมินของตนให้ประเมินสูง ๆ ต่ำ ๆ ตามใจก็ได้ นอกจากนี้นายจ้างอาจพยายามไล่ลูกจ้างที่ไม่ถูกโฉลกออกไปก็ได้ ดร.โสภณกล่าวว่า "ถ้าผมดูแลผู้ประเมินค่าทรัพย์สินไม่ดีพอ พวกเขาก็อาจอดอยากจนต้องไปหาเศษหาเลยกับลูกค้าก็เป็นได้ เราจะฝากความเชื่อ ความหวังไว้กับบุคคลโดยขาดการตรวจสอบ คงไม่ได้"
ดังนั้นในการปกป้องสิทธิของลูกจ้าง ลูกจ้างจำเป็นต้องรวมตัวกัน คนที่เข้าใจลูกจ้างได้ดีที่สุด ก็คือลูกจ้างกันเอง แม้นายจ้างมากมายจะเห็นใจลูกจ้างและส่วนมากก็เคยเป็นลูกจ้างมาก่อน แต่ 'เวลาเปลี่ยน สถานะเปลี่ยน คนก็อาจเปลี่ยนได้' "ในยุคปัจจุบัน เราไม่ได้อยู่ในนิยายสมัยพ่อขุนรามฯ แบบ 'พ่อปกครองลูก' เราควรอยู่ในสังคมอารยะแบบที่สามารถต่อรองกันตามสมควร โดยไม่ต้องเกรงใจเพราะ 'ข้าวแดงแกงร้อน' หรือ 'ถูกเอาเงินฟาดหัว' หรืออะไรทำนองนั้น" ดร.โสภณ กล่าวเพิ่มเติม
การตั้งสหภาพแรงงานผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน ยังจะช่วยทำให้มาตรฐานการประเมินค่าทรัพย์สินมีความเป็นสากลยิ่งขึ้น เพราะมีการตรวจสอบคานอำนาจกัน หากวันใดนายจ้างหรือผู้บริหารบริษัทประเมินต้องการให้ประเมินผิดไปจากความเป็นจริง เสี่ยงต่อการที่ลูกจ้างจะถูกถอดถอนจากการเป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน ลูกจ้างจะได้สามารถปกป้องสิทธิของตนเองได้ โดยมีสหภาพแรงงานเป็นผู้คอยพิทักษ์สิทธิของตนเอง การมีมาตรฐานและจรรยาบรรณสูงขึ้น ยังถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้สังคมมีมาตรฐานน่าอยู่ยิ่งขึ้นวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินนี้ก็จะได้รับการยอมรับยิ่ง ๆ ขึ้นต่อไป
ในต่างประเทศ เช่น Korean Appraisal Board ซึ่งมีพนักงานนับพันคน ก็ยังมีสหภาพแรงงานเป็นของตนเอง แต่จะเป็นธุรกิจบริการ ไม่ใช่ลูกจ้างประเภทโรงงานอุตสาหกรรมก็ตาม แม้แต่ที่ Valuation Office Agency ซึ่งเป็นหน่วยราชการที่ทำงานด้านการประเมินค่าทรัพย์สินให้กับรัฐบาลอังกฤษในด้านต่าง ๆ ก็ยังมีสหภาพแรงงาน โดยผู้บริหารหน่วยงานกับสหภาพแรงงานได้ทำงานประสานกันโดยใกล้ชิดเพื่อสวัสดิภาพแรงงานของลูกจ้างตามที่เหมาะสม
ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจยิ่งก็คือ สหภาพแรงงานผู้ประเมินค่าทรัพย์สินที่สามารถจัดตั้งขึ้นนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นพนักงานในบริษัทเดียวกัน แต่สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานโดยรวมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินที่เป็นลูกจ้างจากทุกบริษัทประเมินเข้าร่วมกันจัดตั้งได้ อาจจัดตั้งมากกว่า 1 สหภาพก็ได้ เพราะใช่ว่าลูกจ้างทุกคนจะถูกชะตากันหมด ก็เหมือนในวงการนายจ้าง ก็มีสมาคมได้มากกว่า 1 สมาคม เป็นต้น
เพื่อเป็นการส่งเสริมการแรงงานสัมพันธ์ที่ดี ดร.โสภณ พรโชคชัย ก็ได้ก่อตั้งสมาคมนายจ้างบริษัทประเมินค่าทรัพย์สิน เพื่อเป็นตัวแทนฝ่ายนายจ้างในด้านนี้ และจึงพยายามจะให้สอดรับกับการจัดตั้งสหภาพแรงงานของผู้ประเมินค่าทรัพย์สินที่เป็นลูกจ้าง เพื่อพัฒนาวงการในอีกมิติหนึ่งที่เราอาจมองไม่เห็น
"เราทำมาหาเลี้ยงชีพ อยู่ในแวดวงการประเมินค่าทรัพย์สิน ก็ต้องช่วยกันสร้างสรรค์ครับ ในบางครั้ง การแรงงานอาจทำให้ 'นายจ้าง' หงุดหงิดบ้าง แต่เราต้องตระหนักในศักดิ์และสิทธิ์ของลูกจ้าง สิทธิ์ต่าง ๆ เกิดจากการเจรจา ไม่ใช่เฉพาะความใจกว้างของนายจ้างเพียงอย่างเดียว นายจ้างและลูกจ้างวงการประเมินค่าทรัพย์สินต้องช่วยกันสร้างสรรค์วิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินให้เป็นที่ยอมรับในสังคม" ดร.โสภณ กล่าวในที่สุดและอย่าลืม "Workers of All Lands United".
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย ([email protected]) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน