ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ซึ่งได้สำรวจตลาดที่อยู่อาศัยย่านบางบัวทองอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2537 โดยถือเป็นศูนย์ฯ ที่มีฐานข้อมูลที่กว้างขวาง เจาะลึกและต่อเนื่องที่สุดในประเทศไทย ดำเนินการโดยรัฐบาลไม่ต้องใช้เงินอุดหนุนเลยแม้แต่บาทเดียว ทั้งนี้ศูนย์ฯ ได้แบ่งพื้นที่ "บางบัวทอง" (Zone N) ออกเป็น 7 บริเวณย่อย เพื่อการวิเคราะห์ตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ และพบว่า
1. พื้นที่บางบัวทองนี้มีอุปทานอยู่ 36,012 หน่วย แยกเป็นทาวน์เฮาส์มากที่สุด 33% บ้านเดี่ยว 31% ห้องชุด 24% บ้านแฝด 10% นอกนั้นเป็นตึกแถวและที่ดินจัดสรรอีกน้อยมาก อย่างไรก็ตามปรากฏว่าสินค้าที่เหลืออยู่ในตลาดขณะนี้จำนวน 24,229 หน่วย แยกเป็นบ้านเดี่ยวมากที่สุดคือ 36% รองลงมาคือทาวน์เฮาส์ 32% ห้องชุด 19% และบ้านแฝด 12% แสดงว่าห้องชุดขายได้เร็วและดีกว่า
2. ที่อยู่อาศัยในพื้นที่นี้ขายในราคาเฉลี่ย 2.939 ล้านบาท ต่ำกว่าราคาเฉลี่ยทั้งกรุงเทพที่ 4 ล้านบาท สินค้ากลุ่มใหญ่ที่สุดขายในราค 2-3 ล้านบาท และ 3-5 ล้านบาท กลุ่มละ 32% ที่ราคาเกิน 5 ล้านบาท มีเพียง 22% เท่านั้น และกลุ่มสินค้าที่ขายได้มากที่สุดก็คือสินค้าราคา 2-3 ล้านบาทนั่นเอง
3. ทำเลถนนราชพฤกษ์ตัดใหม่-345 เป็นทำเลที่ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่ไม่ครบถ้วนนัก ด้วยความที่เป็นพื้นที่ชานเมือง และถนนตัดใหม่ก็พึ่งสร้างเสร็จได้ไม่นาน การพัฒนาในส่วนของสิ่งอำนวยความสะดวก จึงยังมีให้เห็นไม่มาก แต่จุดที่ว่าก็ถูกชดเชยจากทำเลใกล้เคียงที่สามารถเดินทางถึงอย่างสะดวก เช่น รัตนาธิเบศร์ ติวานนท์ และแจ้งวัฒนะ (ใช้สะพานพระราม 4)
4. บริเวณถนนราชพฤกษ์ - นครอินทร์ - รัตนาธิเบศร์ ทั้ง 3 เส้นทางเป็นถนนสายหลักสำคัญที่เชื่อมต่อพื้นที่อยู่อาศัยในย่านบางกรวย บางใหญ่และเมืองนนทบุรี เข้ากับพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วยลักษณะเด่นทางกายภาพของถนนที่ทุกแยกจุดตัดมีสะพานต่างระดับหรือสะพานลอย ข้ามทางแยก ทำให้สภาพการจราจรไม่ติดขัด สามารถเชื่อมต่อเข้าสู่เขต กทม. ได้ทั้งด้านสะพานพระราม 5 สะพานปิ่นเกล้า สะพานพระราม 8 หรือแม้กระทั่งเข้าเขตศูนย์กลางธุรกิจทางด้านสะพานตากสิน-สาทร ก็สะดวกรวดเร็ว อีกทั้งอนาคตยังจะมีรถไฟฟ้าตัดผ่านเข้ามาในพื้นที่อีกอย่างน้อย 2 สาย ยิ่งทำให้ศักยภาพในการพัฒนาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
5. บริเวณถนนบางใหญ่-บางบัวทอง มีระยะทางที่ค่อนข้างยาวและมีจุดเชื่อมโยงตลอดแนวพื้นที่ด้านตะวันตกของ กทม.และนนทบุรี ทำให้ตามแนวถนนสายดังกล่าวกลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่รองรับการขยายตัวของเมือง โดยพื้นที่ริมถนนกาญจนาภิเษกส่วนใหญ่จะเป็นการพัฒนาในเชิงพาณิชย์ทั้งโชว์รูมรถยนต์ บริษัทห้างร้าน ร้านอาหาร ตลาดต้นไม้ ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
6. อย่างไรก็ตามสินค้าส่วนใหญ่ในที่นี้พัฒนาและขายได้โดยบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ถึง 71% เป็นของบริษัทนอกตลาดเพียง 29% จากจำนวนที่ขายได้ทั้งหมด 11,783 หน่วยนั้น บริษัทมหาชนขายที่อยู่อาศัยได้ 25,534 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทนอกตลาดขายได้ 9,099 ล้านบาท หรือในสัดส่วน 74% และ 26% ของทรัพย์สินที่ขายได้ 34,633 ล้านบาทตามลำดับ บริษัทมหาชนราว 15 แห่งในพื้นที่นี้ ยังขายได้ดีกว่าบริษัทเอกชนทั่วไป
โดยรวมแล้วในพื้นที่นี้ถือเป็น "Bed City" หรือเป็นเขตที่พักอาศัยชานเมืองสำหรับผู้ที่ทำงานในเมือง อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่ทำงานในเมืองโดยเฉพาะในย่านใจกลางเมืองอาจจะเดินทางด้วยรถไฟฟ้าไม่ไหว เพราะค่ารถไฟฟ้าไปกลับบางบัวทอง - สีลม อาจเป็นเงินมากกว่า 200 บาทต่อวัน ดังนั้นการซื้อห้องชุดอยู่อาศัยในพื้นที่นี้จึงอาจเหมาะสมกับผู้ที่ทำงานในบริเวณใกล้เคียงนี้เป็นสำคัญ
อ้างอิง: AREA แถลง ฉบับที่ 164/2559: วันพุธที่ 11 พฤษภาคม 2559
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย ([email protected]) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน