เทพศิรินทร์: โตไปไม่โกง รับใช้ประชาชน

จันทร์ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๐๑๕ ๑๖:๕๗
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ และอดีตรองเลขาธิการสมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เขียนบทความข้างต้นในหนังสือ "รำเพยจรัสแสง" ในโอกาสงานชื่นชุมนุมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ เมื่อวันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน 2558 AREA แถลงฉบับนี้จึงนำบทความ "เทพศิรินทร์: โตไปไม่โกง รับใช้ประชาชน" มานำเสนอไว้ ณ ที่นี้

เทพศิรินทร์: โตไปไม่โกง รับใช้ประชาชน

ดร.โสภณ พรโชคชัย*

"เทพศิรินทร์ถิ่นนี้คือที่รัก เทพศิรินทร์พร้อมพรรคสมัครสมาน

เทพศิรินทร์สามัคคีพลีดวงมาลย์ เทพศิรินทร์ถิ่นสถานสำราญใจ

เทพศิรินทร์ถิ่นนี้มีชื่อก้อง เทพศิรินทร์แซ่ซ้องถึงไหน ๆ

เทพศิรินทร์ถิ่นนี้มีชื่อไกล เทพศิรินทร์เปลี่ยนใจเราให้ดี"

ผมจำบทกลอนข้างต้นได้ในสมัยที่ผมเรียนอยู่โรงเรียนเทพศิรินทร์ในช่วงปี 2515-2518 (แล้วไปสอบเทียบเข้าธรรมศาสตร์) ผมเชื่อว่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ของเราสอนให้เราภูมิใจในโรงเรียนของเรา เรามีศักดิ์ศรีของความเป็นเทพศิรินทร์ มีเกียรติ เราย่อมไม่โกงหรือทำสิ่งใดเสื่อมเสียต่อประเทศชาติ หรือในยุคสมัยนี้คงต้องบอกว่า "โตไป ไม่โกง" ดังคำรณรงค์ของสภาหอการค้าไทย ที่ผมเป็นกรรมการสาขาจรรยาบรรณ สาขาความรับผิดชอบต่อสังคม และสาขาต่อต้านการทุจริตมาหลายสมัยแล้ว

บ่อเกิดการทุจริต

เราจะสอนเด็กอย่างไรให้มีความสุจริต โตไปไม่โกงหรือเคารพสิทธิของผู้อื่น หากเราไปต่างประเทศโดยเฉพาะในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย จะพบว่าเวลาประชาชนข้ามถนน แม้เป็นช่วงไฟแดง ก็ยังหยุดรถให้คนข้ามก่อน ไม่ใช่ถือว่าตนมีรถ หรือมีรถคันใหญ่กว่า ทั้งนี้ต่างจากในประเทศไทยของเรา ที่รถมักจะเบียดเสียดไปก่อนคน เพราะถือตนเป็นเจ้าของถนน รถคันไหนที่จอดให้เราข้าม เรายังต้องค้อมศีรษะให้เพื่อแสดงความขอบคุณเสียอีก

ทำไมในประเทศตะวันตกเขาให้เกียรติหรือเคารพคนข้ามถนนเกิดขึ้นได้ ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ หรือเพราะพวกฝรั่งเขา "เอาธรรมะเข้าข่ม" แบบที่สอนในบ้านเรา แต่เพราะกฎหมายของเขาแรงและต่อเนื่อง ใครฝ่าฝืนมีโทษสูง ทุกคนจึงปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัดจนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ และถือเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับเรา แต่ในประเทศไทยของเรา การบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เคร่งครัด ไม่เสมอหน้ากันเท่าที่ควร

ถ้าตราบใดที่บ้านเรายังมีอภิสิทธิ์ชนที่เหนือกว่าชาวบ้านชาวช่องทั่วไป ไม่ใช่ถือคนเท่ากัน ตราบนั้นเราก็ยังไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ยิ่งต้องจัดงานตบเท้าอวยพรวันเกิด ปีใหม่ สงกรานต์ เลื่อนขั้น ฯลฯ ซึ่งเป็นประเพณีที่ควรมีเฉพาะในบ้าน ในชุมชน แต่จัดกันเอิกเกริกกันในสถานที่ทำงาน ในเวลาราชการ ใช้ทรัพยากรของหลวงมาอวยกันส่วนบุคคล ก็ยิ่งเป็นการส่งเสริมการทุจริต เพราะการได้ดีของบุคคล ไม่ได้เกิดจากผลงาน เกิดจากการ "เลีย" หรือขึ้นอยู่กับ "ด.ว.ง." คือ "เด็กใคร" "วิ่งไหม" และ "เงินถึงหรือเปล่า" นั่นเอง

รณรงค์โตไปไม่โกง

พวกเราชาวเทพศิรินทร์มาร่วมกันสร้างสำนึกรู้คุณและรับใช้ประชาชน ให้เกิดขึ้นในหมู่นักเรียน นักศึกษาและข้าราชการทุกหมู่เหล่า เพื่อจะได้ไม่ทรยศ คดโกงประชาชน ด้วยความตระหนักรู้ด้านค่าใช้จ่ายทางการศึกษาที่ได้รับการอุดหนุนจากประชาชน โดยเฉพาะประชาชนคนเล็กคนน้อยที่ร่วมกันเสียภาษีเป็นหลัก ไม่ใช่ภาษีจากคนรวยส่วนน้อยเป็นหลัก อีกอย่างหนึ่งก็คือการเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน และไม่ได้ใช้ศาสนาเข้าข่มเพื่อให้ทำดีแต่อย่างใด

โครงการ "โตไปไม่โกง" เริ่มมาตั้งแต่สมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ และมาจนถึงนายกฯ ประยุทธ์ ที่ยังเสริมต่อด้วยการให้มีกลุ่มวิชาใหม่แก่นักเรียน นั่นคือกลุ่มวิชาเสริมสร้างความเข้มแข็งของประเทศ เพื่อให้เด็ก เยาวชน มีความสำนึก ตระหนักรู้ถึงหน้าที่พลเมืองและสิทธิ สร้างเสริมให้ประเทศมีความเข้มแข็ง" ผมเห็นว่าแนวทางการรณรงค์โตไปไม่โกงและการให้รู้จักสิทธิและหน้าที่ของนักเรียนนั้น ไม่ได้อยู่ที่การส่งเสริมแนวคิดด้านศีลธรรม หรือเอาความเชื่อทางศาสนามารณรงค์ เพราะอาจมีประเด็นอ่อนไหวทางด้านศาสนาได้

ตรรกะ "รับใช้ประชาชน"

การที่จะรณรงค์โตไปไม่โกงหรือการมีสึกนึกตระหนักรู้ถึงหน้าที่พลเมืองและสิทธินั้น ต้องให้นักเรียน ตลอดจนข้าราชการทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงบุญคุณของประชาชนผู้เสียภาษี จะได้มีจิตใจ "รับใช้ประชาชน" อย่างแท้จริง โดยนำตัวเลขมาพิจารณาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ดังนี้:

1. จำนวนนักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศ ณ ปี 2556 ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดที่หาได้ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ มีถึง 13,606,743 คน (http://goo.gl/ysQwqQ)

2. ในแต่ละปีรัฐบาลใช้จ่ายเงินเพื่อการศึกษาเป็นจำนวนมาก เช่น จากข้อมูลของสำนักงบประมาณ งบประมาณด้านการศึกษาในปี 2556 คิดเป็นเงินถึง 493,892 ล้านบาท http://goo.gl/rufUVu)

3. โดยนัยนี้ นักเรียนนักศึกษาคนหนึ่งใช้เงินงบประมาณแผ่นดินเพื่อการศึกษาเป็นเงินถึง 36,298 บาท เงินจำนวนนี้ นักเรียน นักศึกษาอาจไม่ได้เป็นเงินสด แต่ก็คือค่าจ้างครูอาจารย์ ค่าก่อสร้างอาคารเรียน ค่าคุรุภัณฑ์ อุปกรณ์การศึกษาและอื่น ๆ รวมกันนั่นเอง

4. สำหรับการศึกษาในชั้นก่อนอุดมศึกษานั้น นักเรียนคนหนึ่ง ๆ คงใช้เงินปีละไม่เกิน 5,000 บาท ส่วนนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาเฉลี่ยอาจเป็นเงินปีละ 15,000 บาท (Eduzone:https://goo.gl/VqjiK3) ยกเว้นนักศึกษาแพทย์ วิศวกร นักศึกษาอาจจ่ายค่าเล่าเรียนสูงกว่านี้

5. ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่าในการเรียนแต่ละปีตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษา รัฐบาลออกเงินให้เป็นส่วนใหญ่ ในระดับอุดมศึกษา รัฐบาลก็ออกเงินให้ราว 2 เท่าของค่าใช้จ่ายที่นักศึกษาแต่ละคนออก โดยนัยนี้ นักเรียน นักศึกษาส่วนใหญ่จึงเป็นหนี้บุญคุณต่อประชาชนที่เสียภาษีให้ อย่างไรก็ตามบางท่านอาจเรียนโรงเรียนหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน แต่ทางราชการก็ให้เงินสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับสถานศึกษาเอกชนเช่นในด้านการพัฒนาบุคลากร และอื่น ๆ เป็นจำนวนมากเช่นกัน

ภาษีมาจากประชาชนจริงๆ

เพื่อให้ได้ฐานเดียวกัน ในที่นี้จึงใช้ข้อมูลรายได้ของประเทศไทยแยกตามประเภทของภาษีประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 http://goo.gl/8K05Ym) ดังนี้:

รายได้แยกตามประเภท ล้านบาท %

ภาษีมูลค่าเพิ่ม 698,087 27%

ภาษีเงินได้นิติบุคคล 592,499 23%

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 299,034 12%

ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 113,291 4%

ภาษีอื่นๆของสรรพากร 61,796 2%

ภาษีสรรพสามิต (น้ำมัน รถ เบียร์ ยาสูบ ฯลฯ) 432,868 17%

ภาษีกรมศุลกากร 113,382 4%

รายได้รัฐวิสาหกิจ 101,448 4%

รายได้หน่วยงานอื่น 159,016 6%

รวมรายได้ประจำปีงบประมาณ 2556 2,571,421 100%

ภาษีส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากบริษัทห้างร้านหรือประชาชนผู้เสียภาษีทางตรงนั้น นั่นเป็นความเข้าใจผิด จากยอดรายได้ของประเทศไทยทั้งหมดประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 จำนวน 2,571,421 ล้านบาท ภาษีนิติบุคคลเก็บได้เพียง 23% ของภาษีทั้งหมด ส่วนภาษีบุคคลธรรมดามีเพียง 12% เท่านั้น รายได้อันดับหนึ่งของประเทศมาจากภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 27%

ส่วนที่ว่ากรุงเทพมหานครเสียภาษีมากกว่าเพราะมักเป็นแหล่งผลิตสุดท้ายหรือแหล่งส่งออก จึงทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติสูงถึง 44% ของรายได้ประชาชาติโดยรวม แต่ไม่ได้หมายความว่าบริษัทห้างร้านหรือคนในกรุงเทพมหานคร เป็นผู้เสียภาษีมากกว่าประชาชนในชนบทแต่อย่างใด

อาจกล่าวได้ว่า ประชาชนทั่วประเทศส่วนใหญ่เสียภาษีทางอ้อมต่าง ๆ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีปิโตรเลียม ภาษีสรรพสามิต ฯลฯ ดังนั้นประชาชนส่วนใหญ่ทั่วประเทศซึ่งไม่ใช่คนร่ำรวยแต่เป็นคนธรรมดาจำนวนหลายสิบล้านคน จึงเสียภาษีมากกว่าบุคคลธรรมดาที่ร่ำรวย

อันที่จริงนิติบุคคลต่างๆ (ยกเว้นบริษัทมหาชนซึ่งมีไม่กี่ร้อยแห่ง) มักเลี่ยงภาษีในรูปแบบต่าง ๆ หรือเสียภาษีให้น้อยที่สุด แม้แต่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ ยังอาจเสียภาษีมากกว่าคนรวย เพราะพวกเขาต้องเสียภาษีล้อเลื่อน (จักรยานยนต์ รถยนต์รายปี) ส่วนคนร่ำรวย มีที่ดินอยู่จำนวนมหาศาล มูลค่านับร้อย นับพัน นับหมื่นล้านบาท ก็แทบไม่เคยเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอะไรเลย

โดยนัยนี้ ผู้ที่มีบุญคุณต่อนักเรียนนักศึกษามากที่สุดก็คือประชาชนคนเล็กคนน้อยที่เสียภาษีผ่าน VAT และอื่นๆ มากกว่าคหบดีที่อ้างตนว่าเสียภาษีทางตรงเฉพาะรายสูงกว่าประชาชนทั่วไป ดังนั้นเป้าหมายการศึกษาของเราจึงควรมุ่งไปที่การรับใช้ประชาชน อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน แนวคิดการศึกษาเพื่อรับใช้ประชาชนนั้น แทบไม่เคยมีใครสอนในสถาบันอุดมศึกษายุคใหม่ นี่แสดงว่าเราขาดการทดแทนคุณต่อประชาชนและประเทศชาติ

เห็นเกียรติและศักดิ์ศรีของมนุษย์

ถ้าเราจำกันขึ้นใจว่า ที่เรามีระบบการศึกษานี้ ก็เพราะคนเล็กคนน้อยที่เสียภาษีให้เราได้เรียน เราก็จะไม่ดูหมิ่นดูแคลนคนเล็กคนน้อย ตาสีตาสา ยายมี ยายมา รู้จักคิดแทนคุณ ไม่คิดกล้าที่จะไปโกง ไปทำร้ายคนอื่น ยามที่เราจะช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก เราก็จะช่วยเหลือพวกเขาด้วยความรู้สึกเป็นมนุษย์ที่พึงช่วยเหลือกัน ไม่รู้สึกว่าเป็นการไปโปรดบุคคลที่ต่ำกว่า

เราต้องปลูกฝังอุดมการณ์รับใช้ประชาชนตั้งแต่เด็ก ส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษาจำให้ขึ้นใจว่าผู้มีพระคุณที่แท้จริงของพวกเขาคือประชาชนที่ทำให้เขาได้เรียน จะได้แทนคุณประชาชน แทนคุณแผ่นดิน ที่สำคัญต้องไม่ทรยศต่อประชาชนและประเทศชาติ ไม่ใช่มุ่งแต่กอบโกยเพื่อตนเองซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวงจรอุบาทว์ทำลายชาติ การรับใช้ประชาชนและประเทศชาติเป็นพันธกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของนักเรียน นักศึกษา การเริ่มต้นคิดเพื่อส่วนรวม ย่อมเป็นมงคลต่อตนเอง และทำให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนในที่สุด

แนวทางการรับใช้ประชาชน

การรับใช้ประชาชนมีหลายมิติ แต่สิ่งที่ควรพิจารณาในด้านอุดมการณ์ก็คือทุกคนต้องตระหนักถึงภาระนี้ ให้เห็นว่าผู้มีบุญคุณที่แท้จริงคือประชาชนผู้เสียภาษี หาใช่ใครอื่น เราต้องมีหลักยึดที่การทำดีต่อชาติและประชาชน มุ่งสร้างสรรค์ให้ดี ไม่ใช่ดูแต่ตัวเอง (เป็นพวก Self-centredness) ประเภท "พอถูกตะปูตำเท้าตัวเดียว ก็ (เจ็บปวดนึกถึงแต่ตนเอง) จนลืมโลกไปได้ทั้งโลก" เป็นต้น ในแง่ปฏิบัติก็คือ

1. ต้องทำธุรกิจหรือทำงาน ทำตัว ให้ถูกต้องตามกฎหมาย จะเลี่ยงกฎหมาย ฉ้อฉลไม่ได้ เพราะเท่าก้บโกงประชาชน

2. ต้องมีจรรยาบรรณนักธุรกิจ นักวิชาชีพ ข้าราชการ ฯลฯ จะหลีกเลี่ยงเพื่อเอาประโยชน์ตนถ่ายเดียวไม่ได้

3. ต้องบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม บริจาค ทำดีด้วยแรงที่เป็นการรับใช้ประชาชน รับใช้สังคมอย่างชัดเจนไม่ใช่ทำดีเอาหน้า หรือแทบไม่เคยทำดี

เราต้องปลูกฝังอุดมการณ์รับใช้ประชาชนตั้งแต่เด็ก ส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษาจำให้ขึ้นใจว่าผู้มีพระคุณที่แท้จริงของพวกเขาคือประชาชนที่ทำให้เขาได้เรียน จะได้แทนคุณประชาชน แทนคุณแผ่นดิน ที่สำคัญต้องไม่ทรยศต่อประชาชนและประเทศชาติ ไม่ใช่มุ่งแต่กอบโกยเพื่อตนเองซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวงจรอุบาทว์ทำลายชาติ การรับใช้ประชาชนและประเทศชาติเป็นพันธกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของนักศึกษา การเริ่มต้นคิดเพื่อส่วนรวม ย่อมเป็นมงคลต่อตนเอง และทำให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนในที่สุด

การรับใช้ประชาชนมีหลายมิติ ไม่ใช่ว่าต้องไปเป็นอาสาสมัคร ทำงานสมาคม มูลนิธิอะไรเสียอย่างเดียว สิ่งที่ควรพิจารณาก็คือ ในด้านอุดมการณ์ก็คือทุกคนต้องตระหนักถึงภาระนี้ ให้เห็นว่าผู้มีบุญคุณที่แท้จริงคือประชาชนผู้เสียภาษี หาใช่ใครอื่น เราต้องมีหลักยึดที่การทำดีต่อชาติและประชาชน มุ่งสร้างสรรค์ให้ดี ไม่ใช่ดูแต่ตัวเอง (เป็นพวก Self-centredness) ประเภท "พอถูกตะปูตำเท้าตัวเดียว ก็ (เจ็บปวดนึกถึงแต่ตนเอง) จนลืมโลกไปได้ทั้งโลก" เป็นต้น

ความสำคัญของครูเทพศิรินทร์

ในประเทศสแกนดิเนเวีย การเป็นครูที่นี่มีสถานะที่ดีในสังคม เขาคัดคนเก่ง ๆ มาเป็นครู คนมีอาชีพเป็นครูจะได้รับการยกย่องในฐานะนักวิชาชีพระดับสูงเช่นเดียวกับ หมอ วิศวกร สถาปนิก เป็นต้น ที่เขาคัดคนเก่ง ๆ มาเป็นครูก็เพราะจะได้อบรมบ่มเพราะเด็กๆ ให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ แต่เชื่อว่ามีคนที่เรียนครู คนเป็นครูในไทยเราหลายคนที่อาจมีความรู้ ความสามารถจำกัด อนาคตของเด็กไทยจึงอาจกลายเป็น "อนางอ" ไป เราจึงต้องพัฒนาครูเทพศิรินทร์ของเราให้มีความรู้ความสามารถยิ่งๆ ขึ้นเพื่อเทพศิรินทร์ของเรา

ในสแกนดิเนเวียอีกเช่นกัน การจัดการศึกษาที่นี่จัดอย่างดีท่าเทียมกันเพราะทุกคนได้เสียภาษีไปแล้ว บุตรหลานของคนรวยหรือคนจนก็รับการศึกษาที่ดีเท่ากัน ไม่มีระบบที่ผู้ปกครองต้องส่งเด็กไปเรียนพิเศษ เพราะเท่ากับเป็นสร้างความไม่เท่าเทียมกันในโอกาสการศึกษาของผู้ที่มีฐานะด้อยกว่า เราต้องตั้งเป้าหมายให้เรียนที่โรงเรียนแล้ว มีคุณภาพดีเยี่ยม ไม่ต้องไปเรียนพิเศษอีก การสร้างความเท่าเทียมกันเช่นนี้ เด็กเทพศิรินทร์โตไปก็จะไม่แสวงหาโอกาสพิเศษที่จะไปช่วงชิงอย่างไร้ยางอายกับคนอื่น

ข้อคิดส่งท้าย

คงต้องปิดท้ายด้วยเพลง "เป้าหมายการศึกษา" ซึ่งแต่งโดยคุณนเรศ นโรปกรณ์ ความว่า:

"เพียงหวังจะเฟื้องฟุ้ง หรือจะมุ่งมาศึกษา

เพียงเพื่อปริญญา เอาตัวรอดเท่านั้นฤา

แท้ควรสหายคิด และตั้งจิตร่วมยึดถือ

รับใช้ประชาคือ ปลายทางเราที่เล่าเรียน"

เกี่ยวกับผู้เขียน

* ดร.โสภณ พรโชคชัย เข้าเรียน ม.ศ. 1 ณ โรงเรียนเทพศิรินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2515 และสอบเทียบมัธยมปลายได้ตั้งแต่เรียน ม.ศ. 4 ในภาคการศึกษาแรกและสอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เลย ดร.โสภณ จบปริญญาเอกด้านการวางแผนพัฒนาที่ดินและที่อยู่อาศัย จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย และยังได้รับการศึกษาต่อเนื่องจากมหาวิทยาลัยคาธอลิกลูแวง และสถาบันนโยบายที่ดินลินคอล์นด้านที่อยู่อาศัยและการประเมินค่าทรัพย์สิน ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการบริหารศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) และผู้อำนวยการโรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย และเคยเป็นที่ปรึกษาในโครงการของธนาคารโลก องค์การสหประชาชาติ กระทรวงการคลังเวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชา และอื่นๆ สนใจแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ ดร.โสภณ พรโชคชัย ติดต่อได้ที่ Email: [email protected] หรือที่ http://www.facebook.com/dr.sopon4

อ้างอิง: AREA แถลง ฉบับที่ 363/2558:วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2558

ผู้แถลง:

ดร.โสภณ พรโชคชัย ([email protected]; www.facebook.com/dr.sopon4) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ