"สุราษฎร์ธานี" เป็นหนึ่งใน 14 จังหวัดที่ทำงานร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ในการปฏิรูปการศึกษา ภายใต้ โครงการจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ หรือ โครงการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ Area-Based Education (ABE) ที่มี องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี และ สมัชชาการศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นหน่วยงานประสานเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานในพื้นที่ โดยล่าสุดคณะทำงานของจังหวัดสุราษฏร์ธานีได้ไปศึกษาดูงานความสำเร็จของสภาการศึกษาภูเก็ต ในการปรับเปลี่ยนทัศนคติและค่านิยมของครู ผู้ปกครอง และการเรียนรู้ของเยาวชนให้สอดรับกับโลกของการทำงานที่เปลี่ยนไป และเตรียมนำมาขยายผลพัฒนาระบบแนะแนวอาชีพในพื้นที่
นายธีรวัฒน์ รัตนกุล ประธานประสานงานจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้จังหวัดสุราษฏร์ธานี เปิดเผยว่าคณะกรรมการสมัชชาการศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานีจะนำแนวทางการดำเนินงานและปัจจัยความสำเร็จของจังหวัดภูเก็ตมาปรับใช้ในพื้นที่โดยเฉพาะในเรื่องของการขยายความร่วมมือไปยังภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และสถาบันอาชีวศึกษา ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเตรียมความพร้อมของผู้เรียนสู่โลกการทำงาน ให้ลูกหลานของชาวสุราษฎร์ธานีรู้จักตัวเอง รู้จักการเรียนรู้ที่รูปแบบใหม่ และรู้จักความหลากหลายของงานและอาชีพในปัจจุบัน
"สิ่งที่สำคัญในการขยายผลในเรื่องนี้ก็คือการทำให้เด็กและเยาวชนได้รู้ตัวเองว่าในอนาคตเขาจะทำอะไรเพื่อประกอบอาชีพ ให้รู้จักตัวเอง โดยจะต้องทำงานร่วมกับครูแนะแนว ด้วยการให้ความรู้และความเข้าใจถึงโลกของอาชีพและทางเลือกในการเรียนรู้ในปัจจุบันที่ไม่เหมือนเก่า รวมไปถึงการเปลี่ยนทัศนคติของผู้ปกครองให้ตระหนักว่าการเรียนรู้ในปัจจุบันนั้นไม่ใช่เรียนเพื่อปริญญาบัตรแต่เป็นการเรียนรู้เพื่อการประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นโจทย์ที่คณะทำงานจะต้องนำกลับไปพัฒนาต่อ"
ด้าน ดร.สมพร เพชรสงค์ คณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวเสริมถึงแนวทางการดำเนินงานนับจากนี้ว่า การทำให้เด็กได้รู้จักตนเองและค้นพบตัวเองในเรื่องของการเรียนรู้และเรื่องของอาชีพได้เร็วมากขึ้นเท่าไรก็จะทำให้เด็กไม่หลุดออกนอกระบบหรือเสียเวลาไปในเรื่องที่ตนไม่ถนัด
"เนื่องจากบริบทเชิงพื้นที่ของสุราษฎร์ฯกับภูเก็ตมีความแตกต่างกัน ในเบื้องต้นคณะทำงานของจังหวัดสุราษฏร์ธานีจะกลับไปสำรวจข้อมูลใน 2 ประเด็นคือความต้องการในด้านอาชีพของเยาวชนและผู้ปกครองในพื้นที่ และศึกษาถึงสภาพของครูแนะแนว เพื่อที่จะนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาเครื่องมือและกลไกในการพัฒนากระบวนการทำงาน รวมทั้งการให้ความรู้กับครูแนะแนวและผู้ปกครอง รวมไปถึงการออกแบบกิจกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็กและเยาวชนที่จะจัดขึ้นนับจากนี้"
"ปัจจุบันมีผู้จบปริญญามากมาย แต่จบมาแล้วไม่มีงานทำ ตกงาน ทั้งๆที่ มีตำแหน่งงานเปิดรับมากมาย แรงงานจังหวัดสุราษฏร์ธานี เปิดตลาดนัดแรงงานมีความต้องการ 600 ตำแหน่ง มีผู้มีคุณสมบัติสมัครได้ 200 ตำแหน่ง ถามว่าเป็นเพราะอะไร เรียนเพื่อปริญญา หรือเรียนเพื่อมีอาชีพในอนาคต เราควรให้ข้อมูลกับนักเรียน ผู้ปกครองว่าเรียนเพื่อการมีงานทำหรืออาชีพ มิใช่เรียนเพื่อปริญญาแผ่นเดียว เรียนแล้วมีงานทำ เรียนแล้วสามารถมองเห็นอาชีพที่ตนเองรัก ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการจับมือร่วมกันสร้างอนาคตให้เด็กสุราษฏร์ธานี" นายทนงศักดิ์ ทวีทอง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฏร์ธานี กล่าวสรุป.