อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตมีนโยบายสนับสนุนการดำเนินงานสุขภาพจิตเด็กปฐมวัยและวัยเรียนอย่างจริงจัง เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการสำคัญในการดูแลสุขภาพประชาชน ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ และยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยทุกกลุ่มวัย โดยในเด็กปฐมวัยจะเน้นที่การติดตามกระตุ้นพัฒนาการดูแลเด็กอย่างต่อเนื่องทั้งกลุ่มเสี่ยงต่อปัญหาพัฒนาการและเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า ขณะที่ เด็กวัยเรียน จะเน้น การเฝ้าระวังและดูแลช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์ ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมาย เมื่อสิ้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2564) ร้อยละ 90 ของเด็กปฐมวัยกลุ่มเสี่ยงได้รับการกระตุ้นพัฒนาการและดูแลต่อเนื่องด้วยเครื่องมือมาตรฐาน เช่นเดียวกับ เด็กวัยเรียนกลุ่มเสี่ยงที่มีปัญหาพฤติกรรม อารมณ์ ร้อยละ 90 ได้รับการช่วยเหลือตามเกณฑ์
อย่างไรก็ตาม ภายในปีนี้ ได้มีนโยบายให้สร้างกลไกการบูรณาการงานในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน โดยยึดชุมชนเป็นฐานสร้างการมีส่วนร่วม โรงพยาบาลชุมชน/ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สามารถดำเนินการพัฒนา IQ/EQ และส่งเสริมกระตุ้นพัฒนาการเด็ก ได้เหมือนกับการดูแลสุขภาพกาย ตลอดจน บุคลากรโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) รวมทั้ง พ่อแม่ผู้ปกครองซึ่งเป็นเหมือนหมอประจำครอบครัว ควรได้รับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพให้สามารถคัดกรองและกระตุ้นพัฒนาการเด็กในเบื้องต้นได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ จะมีการติดตามผลการดำเนินงานการกระตุ้นพัฒนาการและการพัฒนา IQ/EQ เป็นระยะ โดยไม่ต้องรอผลการสำรวจ เมื่อสิ้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว