ทั้งนี้ ภายหลังจากที่คัดเลือกลวดลายผ้าไหมแล้ว กรมหม่อนไหมได้จัดหาเกษตรกรที่มีฝีมือมาถอดแบบลวดลาย ลอกแบบ มัดหมี่ ย้อมสี และทอผ้าไหม จำนวน 84 ลายเฉลิมพระเกียรติฯ ทั้งยังจัดพิมพ์หนังสือลวดลายผ้าไหมไทย 84 ลาย จำนวน 3,000 เล่ม เพื่อนำทูลเกล้าถวายฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ รวมถึงเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับลวดลายผ้าไหมไทยไปสู่เกษตรกรและผู้สนใจ นอกจากนั้น ยังนำผ้าไหมไทยไปจัดแสดงโชว์ในงานตรานกยูงพระราชทานสืบสานตำนานไหมไทยปี 2559 ด้วย
ด้าน นายอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินกิจกรรมนี้เป็นการประกาศพระเกียรติคุณและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่มีต่อวงการไหมไทย โดยข้อมูลลวดลายผ้าแต่ละผืนได้มาจากการสืบค้นประวัติในพื้นที่ การสอบถามข้อมูลจากเจ้าของผู้ทอผืนผ้าโดยตรง หรือจากทายาทและผู้ทรงคุณวุฒิเฉพาะด้าน เฉพาะถิ่น รวมทั้งจากชาวบ้านที่ทอผ้าใช้เองในชีวิตประจำวันสืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ ซึ่งลวดลายผ้าที่เหมือนกันแต่ละท้องถิ่นอาจเรียกชื่อต่างกัน เพราะมีความเป็นมาที่แตกต่างกัน ถือเป็นมรดกของชาติและภูมิปัญญาทางศิลปวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่สืบไป
"สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงสนพระทัยผ้าไหมไทยซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของชาติ และทรงช่วยเผยแพร่ความงดงามของลวดลายผ้าไหมผ่านทางฉลองพระองค์เมื่อทรงเสด็จพระราชกรณียกิจทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ผ้าไหมไทยโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และมีพระราชดำริให้เก็บรวบรวมลวดลายผ้าไหมไทยไว้จำนวนมาก นำมาถอดลาย ลอกลาย และทอเป็นผืนผ้า การดำเนินโครงการทอผ้าและจัดพิมพ์หนังสือลวดลายผ้าไหมไทยเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ คาดว่า จะช่วยสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิควิธีการทอผ้าของผ้าไหมลวดลายต่างๆ และเป็นแรงผลักดันให้ผู้ประกอบอาชีพทอผ้าไหมได้สืบสานมรดกการทอผ้าไหมไทยต่อไปอย่างยั่งยืน" อธิบดีกรมหม่อนไหมกล่าว