จากการได้รับอนุมัติดังกล่าวทำให้บลจ.กสิกรไทยเป็นนักลงทุนสถาบันของไทยรายแรกที่ได้รับใบอนุญาตภายใต้โครงการ RQFII ของประเทศจีน ซึ่งใบอนุญาตนี้จะกำหนดให้บริษัทจัดการกองทุนสามารถนำเงินไปลงทุนทั้งในตลาดหลักทรัพย์ และตราสารหนี้ในประเทศจีนผ่านการใช้สกุลเงินหยวน ขณะที่ธนาคารเอชเอสบีซีจะเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้รับฝากทรัพย์สินให้แก่บลจ.กสิกรไทย นอกจากนี้ธนาคารเอชเอสบีซี ยังถือเป็นธนาคารผู้ให้บริการรับฝากทรัพย์สินในประเทศจีน ที่ให้บริการแก่โครงการ RQFII สำหรับบลจ.ในประเทศไทยเป็นรายแรกด้วยเช่นเดียวกัน หลังจากที่ครองตำแหน่งผู้ให้บริการแก่โครงการดังกล่าวเป็นรายแรกในหลายประเทศก่อนหน้านี้
เมื่อเดือนธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา ทางการจีนได้ประกาศขยายโครงการ RQFII โดยจัดสรรโควต้าให้แก่ประเทศไทยเป็นมูลค่า 50,000 ล้านหยวน (หรือประมาณ 7.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ธนาคารเอชเอสบีซีจึงได้ให้ความร่วมมือแก่บลจ.กสิกรไทยในการยื่นขอรับใบอนุญาต RQFII นี้ในประเทศไทย และธนาคารจะเป็นผู้ให้บริการรับฝากทรัพย์สินแก่บลจ.กสิกรไทยในประเทศจีนครั้งนี้ด้วย
มร เอียน แบงค์ หัวหน้าฝ่ายบริการหลักทรัพย์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า "ธนาคารรู้สึกยินดีที่จะได้ร่วมงานกับบลจ.กสิกรไทย ในบทบาทการเป็นผู้ลงทุนสถาบันแห่งแรกจากโครงการ RQFII ในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นบทบาทใหม่ที่ท้าทายและถือเป็นพัฒนาการที่สำคัญในการเข้าสู่การเปิดเสรีตลาดทุนในประเทศจีน"
มร เอียน กล่าวเสริมว่า ณ เดือนกันยายน 2559 เอชเอสบีซีเป็นธนาคารผู้รับฝากทรัพย์สินของโควต้าวงเงินการลงทุนภายใต้โครงการ RQFII ให้ประเทศต่างๆ รวมแล้วเป็นมูลค่า 266,300 ล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 52.09 ของมูลค่าการลงทุนที่ได้รับอนุมัติทั้งหมดภายใต้โครงการนี้ นอกจากนี้เอชเอสบีซียังทำสถิติการเป็นธนาคารผู้ให้บริการรายแรกแก่นักลงทุนสถาบันหลายแห่ง รวมถึงเป็นผู้ให้บริการรับฝากทรัพย์สินรายแรกในโครงการ RQFII ทั้งในออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี เกาหลี ลักเซมเบิร์ก สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ และอังกฤษและเป็นธนาคารต่างชาติรายแรกที่ให้บริการรับฝากทรัพย์สินในโครงการ RQFII ในประเทศสิงคโปร์และฮ่องกง
ด้านนายวศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่า "ในด้านมุมมองการลงทุน บลจ.กสิกรไทยมีความเชื่อมั่นต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีน โดยเชื่อว่านโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจของทางการจีนยังเป็นปัจจัยบวกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนในระยะยาว โดยเฉพาะการใช้จ่ายของรัฐบาลและการออมในประเทศที่มีอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้การได้รับใบอนุญาต RQFII ในครั้งนี้ จะทำให้บริษัทสามารถเข้าไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จีน และตราสารหนี้ของสถาบันการเงินในประเทศจีนได้โดยตรง ซึ่งจะช่วยเพิ่มขอบเขตการลงทุนหรือโอกาสในการคัดเลือกตราสารที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น นอกจากนี้ในช่วงต้นปีหน้า บริษัทยังมีแผนที่จะออกกองทุนใหม่ที่ไปลงทุนในตราสารหนี้เอเชีย ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะลงทุนในตราสารหนี้รัฐบาลจีนเป็นส่วนใหญ่ และอาจมีลงทุนในตราสารหนี้เอกชนบางส่วนด้วย"
นายวศินกล่าวเพิ่มเติมว่า การเข้าไปลงทุนโดยตรงในจีนครั้งนี้นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของบริษัทในการขยายศักยภาพการลงทุนโดยตรงไปในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา บริษัทประสบความสำเร็จกับการออกกองทุน K-AEC ที่เข้าไปลงทุนโดยตรงในหุ้นอาเซียนแล้ว และปัจจุบันบลจ.กสิกรไทยมีความเป็นผู้นำในการออกผลิตภัณฑ์กองทุนรวมที่มีความหลากหลาย กระจายลงทุนครอบคลุมไปในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 บลจ.กสิกรไทยมีสินทรัพย์สุทธิในกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (ไม่นับกองทุนประเภท term fund) คิดเป็นมูลค่าประมาณ 121,927 ล้านบาท หรือคิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ที่ 34.79% (ที่มา: Morningstar, 30 มิ.ย.2559)
ที่ผ่านมาบลจ.กสิกรไทยมีการลงทุนในประเทศจีนอยู่แล้ว โดยในส่วนตลาดหุ้นจะลงทุนผ่านกองทุนหลักและกองทุน ETF ในต่างประเทศขณะที่ตลาดตราสารหนี้จะลงทุนในเงินฝากของธนาคารของจีนโดยผ่านสาขาในฮ่องกงและมาเก๊า