ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 26 ตุลาคม 2559 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ 5 จังหวัด ได้แก่ จ.อุบลราชธานี จ.ศรีสะเกษ จ.ยโสธร จ.มุกดาหารและจ.อำนาจเจริญ จำนวนทั้งสิ้น 6,096 ราย ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต พบผู้ป่วยมากสุดที่ จ.อุบลราชธานี 3,986 ราย รองลงมา คือ จ.ศรีสะเกษ 1,327 ราย กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือกลุ่มอายุ แรกเกิด – 4 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5 – 9 ปี ยังพบว่าสถานการณ์ขณะนี้จำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน
นพ.ศรายุธ กล่าวต่อไปว่า โรคไข้หวัดใหญ่ติดต่อจากการไอ จามรดกัน อาการจะเริ่มด้วยมีไข้สูง ตัวร้อน หนาว ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่หลัง ต้นแขน ต้นขา ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไอแห้งๆ โดยในเด็กอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วงได้มากกว่าผู้ใหญ่ ส่วนอาการคัดจมูก จาม เจ็บคอ พบเป็นบางครั้งในไข้หวัดใหญ่ แต่จะพบในไข้หวัดมากกว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง อาการจะทุเลาลงและสามารถหายป่วยได้เองภายใน 5-7 วัน แต่บางรายที่มีภาวะแทรกซ้อนทำให้เกิดอาการที่รุนแรง เช่น ปอดบวม สมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตับอักเสบ หายใจเร็ว เหนื่อย หอบ หายใจลำบาก ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้
ซึ่งการป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจ ควรดูแลตนเองด้วยการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กินอาหารปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลาง และหมั่นล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่มีคนแออัด หมั่นทำความสะอาดสถานที่ อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได โต๊ะอาหาร ด้วยน้ำผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาดทั่วไป และเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท ส่วนผู้ป่วยขอให้พักผ่อนมากๆ และสวมหน้ากากอนามัย แนะนำให้ผู้ป่วยหยุดเรียน หรือหยุดทำงาน และให้อยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น ที่สำคัญผู้ปกครองต้องคอยสังเกตอาการของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เพราะเด็กเล็กมักป่วยได้ง่ายและบางครั้งเด็กอาจไม่แสดงอาการออกมาให้เห็น ทั้งนี้ หากพบว่ามีอาการรุนแรงขึ้น เช่น เหนื่อยหอบ หรืออาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ขอให้ไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทันที ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422./ นพ.ศรายุธ กล่าวปิดท้าย