นายกสภา มรภ.สงขลา มอง “ไทยแลนด์ 4.0” แนะฟื้นด้านเกษตร-จำกัดการรุกล้ำของเมือง

ศุกร์ ๐๔ พฤศจิกายน ๒๐๑๖ ๒๒:๐๔
นายกสภา มรภ.สงขลา มองภาพไทยแลนด์ 4.0 ชี้ต้องเป็นพลเมืองที่มีความรู้ ผลิตและบริโภคอย่างมีเหตุผล ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง เตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง แนะไทยได้เปรียบเชิงพื้นที่ เหมาะฟื้นด้านเกษตร แต่ต้องป้องกันการรุกล้ำของเมือง

ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา นายกสภา มรภ.สงขลา ผู้เชี่ยวชาญด้านการกระจายอำนาจทางการคลัง ธนาคารโลก บรรยายพิเศษในหัวข้อ "นโยบายสาธารณะ กับการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0" ให้แก่นักศึกษาโปรแกรมวิชาเศรษฐศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มรภ.สงขลา เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ไทยแลนด์ 4.0 คือระบบเศรษฐกิจในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งเพิ่งเริ่มต้นในช่วงนี้ และจะเห็นชัดเจนในอีก 10-20 ปีข้างหน้า มีที่มาจากระบบทุนนิยมที่มีทั้งความล้มเหลวและความสำเร็จในขณะเดียวกัน การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 มีทั้งแรงผลักและแรงส่ง แรงผลักคือวิกฤติการณ์ของระบบทุนนิยมโลก ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ผ่านมา การแข่งขันทางเศรษฐกิจที่เข้มข้นและทำลายล้างในยุคโลกไร้พรมแดน วิกฤติการณ์ความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ วิกฤติการณ์ด้านประชากรสูงอายุมากขึ้น แรงงานลดลง สังคมแบ่งขั้วแบ่งชนชั้นคนรวยคนจนอย่างรุนแรง วัฒนธรรมบริโภคนิยมแบบไม่มีเหตุผล ผู้บริโภคส่วนใหญ่ล้มละลาย มีหนี้ท่วมตัว ตัวอย่างความล้มเหลวของระบบทุนนิยมโลก คือปัญหาความยากจนและความไม่เท่าเทียม รัฐบาลทุกยุคสมัยประกาศสงครามต่อสู้กับความยากจน ผลคือความยากจนเป็นฝ่ายชนะรัฐบาลเสมอมา

ในส่วนของแรงส่งสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เป็นผลพวงจากการปฏิวัติอุสาหกรรมยุค 2-3 ที่ผ่านมา เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีอัจฉริยะ สังคม-วัฒนธรรม ที่มีการเชื่อมต่อกันตลอดเวลา ในระดับหน่วยเศรษฐกิจที่เล็กที่สุด โดยผ่านระบบเชื่อมต่อเสมือนจริง ถามว่ามีอะไรใหม่ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่ นั่นคือมีการนำเทคโนโลยีดิจิตัลและอินเทอร์เน็ตมาใช้ในกระบวนการผลิตและกระจายสินค้าบริการ เชื่อมความต้องการของผู้บริโภคแต่ละรายเข้ากับกระบวนการผลิตสินค้าได้โดยตรง และมีหน่วยผลิตอย่างฟาร์มเกษตร-โรงงานฯ แบบอัจฉริยะ(Smart farms-smart factories) ที่สามารถผลิตสินค้าได้ตามความต้องการเฉพาะของผู้บริโภคแต่ละรายเป็นจำนวนมากๆ ได้รวดเร็วทันเวลา ผู้ผลิต-ผู้บริโภคให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นอกจากนั้น มีการนำระบบเงินตราแบบอิเล็กทรอนิกส์ (เงินเครดิต-เงินเสมือนจริง) มาใช้แทนระบบเงินตราแบบดั้งเดิม ผ่านธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ ของไทยเราคือ "พร้อมเพ" (Prompt pay) อุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่เปลี่ยนรูป แยกตัว-กระจายตัวออกเป็นหน่วยย่อยๆ ที่เป็นอิสระจากกันมากขึ้น และรวมหน่วยปัจจัยการผลิต-ผู้บริโภคเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ เชื่อมโยงผ่านระบบเครือข่าย ธุรกิจเน้นการพึ่งพากันและกัน มากกว่าแข่งขันแบบทำลายล้าง ธุรกิจเพื่อสังคม สหกรณ์ และองค์กรภาคประชาสังคม เข้ามามีบทบาททดแทนหน่วยงานภาครัฐมากขึ้น ขณะเดียวกันการเมืองมีก็เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ประชากรเมืองเพิ่มขึ้น คนเมืองมีมากกว่าร้อยละ 70 เมืองยุคดั้งเดิมถูกแทนที่โดยเมืองสมัยใหม่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความสำคัญมากขึ้น เปลี่ยนบทบาทจากการปกครองเป็นการบริหารเมืองสมัยใหม่ รัฐในระดับชาติทำหน้าที่ด้านการกำกับดูแลตลาด การจัดสรร และการกระจาย เพื่อลดปัญหาชนชั้น ผลิต-ให้บริการ น้อยลง เปลี่ยนผู้ผลิตและผู้บริโภคให้เป็นพลเมืองที่มีความรู้ ผลิต-บริโภคอย่างมีเหตุผลและรับผิดชอบ ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง

เศรษฐกิจ 4.0 ในนโยบายของรัฐบาลไทย ใช้ 3 กลไกขับเคลื่อน ได้แก่ 1. Productive Growth Engines ปรับเปลี่ยนประเทศไทยสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ปัญญา เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ อาทิ สร้างเครือข่ายความร่วมมือในรูปแบบประชารัฐ บริหารจัดการสมัยใหม่ สร้างคลัสเตอร์ทางด้านเทคโนโลยี พัฒนาขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนา การพัฒนาโมเดลธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ริเริ่มการร่วมทุนรัฐและเอกชนในโครงการขนาดใหญ่ และบ่มเพาะธุรกิจด้านเทคโนโลยี 2. Inclusive Growth Engines กระจายรายได้ โอกาส และความมั่งคั่ง โดยสร้างคลัสเตอร์เศรษฐกิจระดับกลุ่มจังหวัด พัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานรากในชุมชน ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจ ส่งเสริมและสนับสนุนให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเข้มแข็ง และสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก สร้างงานใหม่ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ยกระดับขีดความสามารถ การเสริมสร้างทักษะและพัฒนาศักยภาพของพลเมือง ให้ทันกับพลวัตการเปลี่ยนแปลง ชดเชยรายได้ให้แก่ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ และ 3. Green Growth Engines ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เน้นการใช้พลังงานทดแทน คำนึงถึงประโยชน์ที่ได้จากการลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นทั้งระบบ มากกว่าความได้เปรียบด้านต้นทุน

ประเทศไทยกำลังมุ่งสู่เศรษฐกิจ 4.0 ด้วย 5 สาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 1. Biotechnology เกษตร อาหาร ฐานนวัตกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ เน้นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเชื่อมต่อผู้ผลิตกับผู้บริโภคแบบครบวงจร 2. Bio-Medical สาธารณสุข สุขภาพ ฐานเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ 3. Robotic เครื่องมือเทคโนโลยีอุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ ระบบเครื่องกลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการควบคุม 4. Digital & IOT เทคโนโลยีการสื่อสาร การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบอัจฉริยะ ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ 5. Creative & Culture: อุตสาหกรรมและบริการสร้างสรรค์ เชื่อมโยงโรงงานกับผู้บริโภค สื่อเสมือนจริง การท่องเที่ยวฐานวัฒนธรรม เชื่อมโยงพื้นที่ วัฒนธรรม หน่วยให้บริการนักท่องเที่ยวแบบครบวงจร ในอนาคตบริษัทขนาดใหญ่จะถูกย่อยเป็นบริษัทขนาดเล็ก ขณะเดียวกันผู้ที่ทำธุรกิจแบบเดี่ยวๆ จะมีน้อยลง แต่จะรวมกลุ่มกันและมีการลงทะเบียนเพื่อควบคุมมาตรฐานสินค้า

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทย 4.0 จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขเบื้องต้นต่อไปนี้คือ 1. การเกิดพลเมืองยุคใหม่ 2. การเกิดเทคโนโลยีการผลิตและเชื่อมต่อยุคใหม่ (พลังงาน วัสดุ เกษตร ไอที การจัดการชุดข้อมูลขนาดใหญ่ ฯลฯ) 3. การกระจายการถือครองทรัพย์สินประเภททุน (ที่ดิน อาคารบ้านเรือน เงินลงทุน ข้อมูลและความรู้) 4. การกระจายตัวของการลงทุน และการลงทุนระยะยาว 5. การเกิดเมืองสมัยใหม่ และระบบโครงสร้างพื้นฐานยุคใหม่ ให้สามารถรองรับการกระจายตัวของการลงทุนและนวัตกรรมยุคใหม่ 6. การเกิดความรู้เกี่ยวกับการจัดการองค์กรยุคใหม่-องค์กรเครือข่าย-องค์กรเสมือนจริง ธุรกิจเพื่อสังคม แทนที่ความรู้เกี่ยวกับการจัดการองค์กรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ในยุคที่ 3 และ 7. การเมืองแบบประชาธิปไตยที่มีเหตุผล กล่าวได้ว่า ไทยแลนด์ 4.0 มีความเกี่ยวข้องกับเราทุกคน เนื่องจากเราคือพลเมืองยุคใหม่ซึ่งจะใช้ชีวิตอยู่ในระบบเศรษฐกิจ 4.0 ในวันนี้และวันข้างหน้า ในการเตรียมตัวนั้นต้องทำตัวให้พร้อมที่จะเป็นพลเมืองที่ฉลาดและมีเหตุผล (ไม่เป็นผู้บริโภคที่ไม่มีเหตุผล) มีศักยภาพในการเป็นผู้ประกอบการหรือเจ้าของหน่วยธุรกิจขนาดเล็ก-ขนาดกลาง หรือเป็นส่วนหนึ่งของระบบเชื่อมต่อระหว่างหน่วยเศรษฐกิจอื่นๆ ในสังคมท้องถิ่น สังคมไทย และสังคมโลก

"ผลกระทบจากไทยแลนด์ 4.0 ต่อคนกลุ่มต่างๆ คนรวยก็จะยังคงรวยต่อไป แต่คนชั้นกลางจะเลื่อนไปเป็นคนชั้นล่าง ในขณะที่คนชายขอบส่วนหนึ่งจะตกขอบและดึงไม่ขึ้น ซึ่งอาจได้รับความช่วยเหลือในแง่เงินสงเคราะห์จากรัฐบาล ขณะนี้แผนพัฒนาเศรษฐกิจที่รัฐกำลังร่างอยู่ ได้พยายามนำเอาไทยแลนด์ 4.0 ไปใส่ในยุทธศาสตร์ชาติในอนาคต โดยจะครอบคลุมเรื่องทิศทางและมาตรการที่จะเดิน สุดท้ายนี้ผมอยากชี้ให้เห็นว่า การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ไม่จำเป็นต้องเน้นด้านอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว เพราะอย่างประเทศนิวซีแลนด์ เดนมาร์ก ซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรมแบบเกษตรก้าวหน้า ก็สามารถมีรายได้สูงได้ ไทยเองมีข้อได้เปรียบเรื่องทำเลที่ตั้ง ดินแดนที่เราอยู่อุดมสมบูรณ์ เหมาะกับการทำเกษตร ดังนั้น ต้องฟื้นด้านเกษตรให้ดี และป้องกันการรุกล้ำของเมือง"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ