ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางของไทย

จันทร์ ๐๗ พฤศจิกายน ๒๐๑๖ ๐๙:๔๕
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign Currency Issuer Default Rating) ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY และ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB พร้อมกันนี้ฟิทช์ยังประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ BAY TMB ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TBANK และบริษัททุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP

สำหรับรายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดแสดงไว้ในส่วนท้าย

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ BAY พิจารณาจากการสนับสนุนของผู้ถือหุ้นที่เป็นสถาบัน เนื่องจากฟิทช์ว่า BAY เป็นบริษัทลูกที่มีบทบาทสำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อ Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ, Ltd. (BTMU, อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ 'A'/แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ) ซึ่งเป็นธนาคารแม่ที่มีสัดส่วนการถือหุ้นใน BAY ที่ 76.9% แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบของ BAY สอดคล้องกับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบของธนาคารแม่

อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ TMB พิจารณาจากความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร ซึ่งสะท้อนในอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating)

อันดับเครดิตภายในประเทศของ TBANK สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของเครือข่ายทางธุรกิจในระดับปานกลางของธนาคารในฐานะที่เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของประเทศไทยและเป็นผู้นำตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ฐานะทางการเงินโดยรวมของ TBANK ปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นต่อเนื่องสำหรับระดับอันดับเครดิต ณ ปัจจุบันของธนาคาร โดยเฉพาะในด้านคุณภาพสินทรัพย์และเงินกองทุน ส่งผลให้ความแตกต่างระหว่างโครงสร้างอันดับเครดิตโดยรวมของ TBANK ปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศขนาดใหญ่ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพของอันดับเครดิตภายในประเทศสะท้อนถึงการที่ฟิทช์คาดว่า TBANK น่าจะสามารถรักษาโครงสร้างทางการเงินที่ปรับตัวดีขึ้นไว้ได้ต่อเนื่องและความสามารถในการรองรับผลการดำเนินงานที่อาจผันผวน (ในด้านของระดับสำรองหนี้สงสัยจะสูญและฐานะเงินกองทุน) น่าจะช่วยให้ธนาคารสามารถรับมือกับการชะลอตัวตามวัฎจักรของเศรษฐกิจได้โดยไม่น่าจะมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตของธนาคาร

อันดับเครดิตภายในประเทศของ TCAP ถูกปรับลดลงมาจากอันดับเครดิตของ TBANK ซึ่งเป็นบริษัทลูกหลักในเครือ เพื่อสะท้อนถึงการด้อยสิทธิทางโครงสร้าง (structural subordination) ของ TCAP ในฐานะบริษัทโฮลดิ้ง และการที่ TBANK มีสัดส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อย (minority interest) ในระดับสูง แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพของอันดับเครดิตภายในประเทศของ TCAP นั้นสอดคล้องกับแนวโน้มอันดับเครดิตของ TBANK

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต - อันดับความเข็งแกร่งทางการเงิน

อันดับความเข็งแกร่งทางการเงินของ BAY สะท้อนถึงโครงสร้างเครดิตโดยรวมของธนาคารที่อยู่ในระดับน่าพอใจ เครือข่ายธุรกิจในประเทศในฐานะธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของประเทศไทย ผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง และความสามารถในการรองรับความเสี่ยงจากคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารในระดับที่ยอมรับได้ นอกจากนี้ BAY ยังได้การสนับสนุนในการดำเนินงานปรกติที่มีความสำคัญ เช่น ด้านแหล่งเงินทุน ด้านการตลาด การบริหารจัดการ และควบคุมการดำเนินงาน

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ TMB สะท้อนถึงคุณภาพสินทรัพย์และความสามารถในการทำกำไรที่มีเสถียรภาพของธนาคาร รวมทั้งฐานะเงินกองทุนและสภาพคล่องของธนาคารที่อยู่ในระดับดี TMB เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านสินเชื่อที่ประมาณ 6% และเงินฝากที่ประมาณ 5% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 ธนาคารมีระดับสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่ปรับตัวดีขึ้นและน่าจะช่วยให้ธนาคารสามารถรับมือกับความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกได้ในระยะสั้น อย่างไรก็ตามฟิทช์ยังคงคาดว่าคุณภาพสินทรัพย์ของ TMB น่าจะได้รับแรงกดดันจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่อ่อนแอ

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต - อันดับเครดิตสนับสนุน และอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ

อันดับเครดิตสนับสนุนของ BAY สะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่ BAY จะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษที่นอกเหนือจากการสนับสนุนในด้านการดำเนินงานปรกติจาก BTMU

อันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ TMB พิจารณาจากปัจจัยการสนับสนุนจากภาครัฐ ฟิทช์เชื่อว่า TMB เป็นหนึ่งในธนาคารที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินในประเทศและมีความเป็นไปได้ในระดับหนึ่งที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยหากมีความจำเป็น แม้ว่าความเป็นไปได้ที่จะได้รับการสนับสนุนนั้นอาจน้อยกว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ทั้ง 4 แห่งในประเทศไทย

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต - อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิและหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนอื่น

หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (ทั้งตามเกณฑ์บาเซล 2 และเกณฑ์บาเซล 3) ของ BAY และ TMB ได้รับการจัดอันดับเครดิตให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของแต่ละธนาคารอยู่หนึ่งอันดับ เพื่อสะท้อนถึงความเสี่ยงของการขาดทุนจากการชำระคืนเงินกู้ (loss severity risk) ที่มากกว่าเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ที่ไม่ด้อยสิทธิเนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีสถานะด้อยสิทธิ และไม่ได้มีการบังคับตัดหนี้สูญทั้งจำนวน (mandatory full write-down) ทั้งนี้ไม่ได้มีการปรับลดอันดับเครดิตเพิ่มเติมเพื่อสะท้อนถึงความเสี่ยงที่ผู้ถือหุ้นกู้จะไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดการณ์ (non-performance risk) เนื่องจากข้อกำหนดสิทธิที่สำคัญของหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวไม่ได้มีการระบุถึงคุณสมบัติที่สามารถรองรับผลขาดทุนระหว่างการดำเนินงาน (going-concern)

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต– อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ BAY อาจเปลี่ยนแปลงได้จากการเปลี่ยนแปลงของสมมติฐานของฟิทช์ต่อความสามารถหรือโอกาสที่ BTMU จะให้การสนับสนุนแก่ BAY อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ BAY อยู่ในระดับเดียวกับเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทย และอันดับเครดิตภายในประเทศก็อยู่ในระดับที่สูงสุดแล้วสำหรับอันดับเครดิตภายในประเทศ ดังนั้นจึงไม่มีโอกาสที่จะได้รับการปรับเพิ่มอันดับ อันดับเครดิตของ BAY อาจได้รับผลกระทบในเชิงลบหากอันดับเครดิตของ BTMU ถูกปรับลดอันดับ หรือความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ BAY ต่อ BTMU ลดลง (เนื่องจากอาจนำไปสู่โอกาสในการได้รับการสนับสนุนที่ลดลง)

สำหรับ TMB อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศอาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร อันดับเครดิตภายในประเทศของ TMB จะได้รับผลกระทบในทิศทางเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลของอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเช่นกัน แต่ทั้งนี้อันดับเครดิตภายในประเทศอาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับโดยที่อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารอาจไม่มีการเปลี่ยนแปลง หากฐานะทางการเงินของ TMB ปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์อื่นในประเทศไทย

อันดับเครดิตภายในประเทศของ TBANK อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับ หาก TBANK สามารถรักษาผลการดำเนินงานโดยรวมให้ปรับตัวดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านคุณภาพสินทรัพย์และเงินกองทุน ซึ่งจะช่วยให้ความแข็งแกร่งทางการเงินของ TBANK ปรับตัวขึ้มมาใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มากขึ้น แต่ในทางกลับกันอันดับเครดิตภายในประเทศของ TBANK อาจถูกปรับลดอันดับหากธนาคารมีโครงสร้างทางการเงินที่ปรับตัวแย่ลงอย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่อง

การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตภายในประเทศของ TBANK น่าจะส่งผลกระทบในทิศทางเดียวกันต่ออันดับเครดิตของ TCAP

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับความเข็งแกร่งทางการเงิน

อันดับความเข็งแกร่งทางการเงินของ BAY อาจถูกปรับลดอันดับหากมีการลดลงอย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่องของคุณภาพสินทรัพย์และเงินกองทุน หรือการปรับตัวแย่ลงอย่างมีนัยสำคัญของสภาพคล่อง ในขณะเดียวกันอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินอาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากการควบรวมกิจการกับ BTMU ส่งผลให้ธนาคารมีความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่องในด้านเครือข่ายธุรกิจและเงินกองทุน

อันดับความเข็งแกร่งทางการเงินของ TMB อาจถูกปรับลดอันดับหากธนาคารมีคุณภาพสินทรัพย์ อัตรากำไร ฐานะสภาพคล่อง หรืออัตราส่วนเงินกองทุนที่ปรับตัวแย่ลงอย่างมาก ในทางกลับกันอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินอาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากธนาคารสามารถรักษาปัจจัยทางการเงินดังกล่าวให้ปรับตัวดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ

อันดับเครดิตสนับสนุนของ BAY อาจได้รับผลกระทบจากการลดลงของโอกาสที่ BTMU จะให้การสนับสนุนแก่ BAY ซึ่งอาจสะท้อนได้จากจากการปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นลงอย่างมีนัยสำคัญหรือการลดลงของการเชื่อมโยงในการดำเนินงาน เป็นต้น อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น อันดับเครดิตสนับสนุนของ BAY อาจได้รับผลกระทบจากการปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ BTMU

การเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของส่วนแบ่งทางการตลาดของ TMB ทั้งในด้านสินเชื่อและเงินฝากอาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของธนาคาร อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิของ BAY และ TMB จะได้รับผลกระทบในทิศทางเดียวกันจากปัจจัยที่มีผลกระทบต่ออันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารแต่ละแห่ง

รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมด มีดังนี้

BAY

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวคงอันดับเครดิตที่ 'A-'; แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ 'F2'

- อันดับความเข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับเครดิตที่ 'bbb'

- อันดับเครดิตสนับสนุน คงอันดับเครดิตที่ '1'

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับเครดิตที่ 'AAA(tha)'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ 'F1+(tha)'

- อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน คงอันดับเครดิตที่ 'AAA(tha)'

- อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน (ตามเกณฑ์บาเซล 2) คงอันดับเครดิตที่ 'AA+(tha)'

- อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (ตามเกณฑ์บาเซล 3) คงอันดับที่ 'AA+(tha)'

TMB

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว คงอันดับที่ 'BBB-'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ 'F3'

- อันดับความเข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับที่ 'bbb-'

- อันดับเครดิตสนับสนุน คงอันดับที่ '3'

- อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ คงอันดับที่ 'BB+'

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับที่ 'A+(tha)'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ 'F1(tha)'

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ของโครงการหุ้นกู้ EMTN มูลค่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คงอันดับที่ 'BBB-'

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน คงอันดับเคดดิตที่ 'BBB-'

- อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (ตามเกณฑ์บาเซล 3) คงอันดับที่ 'A(tha)'

- อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ (ตามเกณฑ์บาเซล 2) คงอันดับที่ 'A(tha)'

TBANK

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับเครดิตที่ 'A+(tha)' / แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ 'F1+(tha)'

TCAP

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับเครดิตที่ 'A(tha)' / แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ 'F1(tha)'

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ