พลเอก ดร.ศิริ ทิวะพันธุ์ ประธานสถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีน เป็นผู้มอบโล่และประกาศเกียรติคุณให้แก่นางเผอิญ พงษ์สีชมพู ประธานวิสาหกิจชุมชนฯ นายประสิทธิ์ เพ็งหัวรอ รองประธานวิสาหกิจชุมชนฯ นางสาววรัญญา หอมธูป ผู้ประสานงานชุมชนและผู้ประสานงานวิสาหกิจชุมชนฯ โดยมีประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลก ผู้อำนวยการกลุ่มกิจการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ตลอดจนอาจารย์และบุคลากรจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกร่าง และผู้นำชุมชนจากหลายแห่ง เข้าร่วมเป็นเกียรติในงาน
พลเอก ดร.ศิริ ทิวะพันธุ์ ประธานสถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีน กล่าวว่า "นางเผอิญ พงษ์สีชมพู และนางสาววรัญญา หอมธูป เป็นผู้นำกลุ่มและผู้ประสานงานกับชุมชน น้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินงานจนประสบความสำเร็จ ได้รับรางวัลชนะเลิศในระดับภาคเหนือและรางวัลรองชนะเลิศในระดับประเทศภูมิปัญญาสู่นวัตกรรม ตามโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยการฟื้นฟู อนุรักษ์ และพัฒนาต้นส้มซ่า พืชดั้งเดิมของท้องถิ่นที่ใกล้สูญพันธุ์ ตลอดจนทรัพยากรอื่น ๆ เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม โดยมีการศึกษาวิจัยโดยผู้เชี่ยวชาญ"
นอกจากนี้วิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์ทรัพยากรชีวภาพเพื่อเศรษฐกิจชุมชนบ้านวังส้มซ่า ยังมีการพัฒนาต่อยอดโดยเข้ารับการฝึกอบรมด้านการนวดแบบสปา จนสามารถเปิดส้มซ่าสปาเพื่อสุขภาพ เปิดบริการนวดหน้า นวดตัว นวดเท้าและอบตัว ให้แก่บุคคลทั่วไป นอกจากนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพ โดยภายงานได้ทำอาหารว่างแจกผู้ร่วมงาน ได้แก่ เค้กกล้วยหอมผสมส้มซ่าและน้ำพันซ์ส้มซ่า ซึ่งเป็นสูตรที่ทางกลุ่มศึกษาคิดค้นขึ้นเอง
"นางสาววรัญญา หอมธูป ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นวิทยากรของสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) อีกด้วย ส่วนนายประสิทธิ์ เพ็งหัวรอ รองประธานวิสาหกิจชุมชนฯ เป็นผู้นำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางในการสร้างป่าครอบครัว โดยปลูกไร่แบบผสมผสาน ปลูกพืชหลากหลายชนิด ตลอดจนพืชผักสวนครัว ป่าครอบครัว ทำให้เกิดระบบนิเวศในพื้นที่มีความสมดุลทางอาหารของพืช ก่อให้เกิดผลผลิตที่มีรายได้เฉลี่ยหมุนเวียนจากพืชตลอดปี ช่วยลดรายจ่ายและสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว รวมทั้งสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่บุคคลทั่วไปอีกด้วย" พลเอก ดร.ศิริ ทิวะพันธุ์ กล่าวทิ้งท้ายก่อนร่วมกันปลูกต้นส้มซ่า เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์และขยายพันธุ์ต้นส้มซ่าต่อไป