ก่อนหน้านี้ กรมธุรกิจพลังงาน ได้ออกประกาศปรับลดสัดส่วนผสมไบโอดีเซลจากน้ำมันบี 7 เป็นน้ำมันบี 5 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2559 แต่สถานการณ์ราคาผลปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มดิบยังทรงตัวอยู่ในเกณฑ์สูง ดังนั้น เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพราคาและป้องกันการขาดแคลนน้ำมันพืชสำหรับการบริโภค ในครั้งนั้น กรมธุรกิจพลังงานจึงได้ปรับลดสัดส่วนผสมไบโอดีเซลลงจาก บี 5 เป็นบี 3 ซึ่งมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2559 แต่ในขณะนี้ สถานการณ์ผลผลิตปาล์มดิบได้คลี่คลายลงแล้ว จากการพยากรณ์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2559 จะมีผลผลิตปาล์มดิบออกมาประมาณ 90,000 ตัน/เดือน ส่งให้ปริมาณน้ำมันดิบคงเหลือสูงขึ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำมัน ปาล์มดิบคงเหลือประมาณ 2.8 - 3 แสนตัน/เดือน ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงไม่ส่งผลกระทบต่อน้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภค
นายวิฑรูย์ได้กล่าวเสริมว่า ด้วยการปรับสัดส่วนไบโอดีเซลเป็นบี3 และสถานการณ์ผลผลิตปาล์มน้ำมันที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้มีปริมาณสต๊อกคงเหลือในเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2559มากขึ้น ทำให้ประเทศไทยผ่านพ้นจากภาวะวิกฤตการณ์ขาดแคลนน้ำมันปาล์ม และมีปริมาณน้ำมันปาล์มเหลือจากการบริโภคมากเพียงพอ ที่จะมีการปรับเพิ่มสัดส่วนไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซล กระทรวงพลังงานโดยกรมธุรกิจพลังงานจึงได้ออกประกาศเพิ่มสัดส่วนไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลจากบี3 เป็นบี5 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2559 และเมื่อสถานการณ์ปาล์มน้ำมันดีขึ้น ก็จะปรับเพิ่มเป็นบี7 ต่อไป
ซึ่งการปรับเพิ่มสัดส่วนผสมไบโอดีเซลจากบี3 เป็นบี5 นี้ จะทำให้การใช้ไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นอีกอีกประมาณเดือนละ 37 ล้านลิตร หรือคิดเป็นปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบสำหรับผลิตเป็นไบโอดีเซลเพื่อใช้ในภาคพลังงานเพิ่มขึ้นอีกประมาณเดือนละ 27,000 ตัน กล่าวคือ จากเดิมที่เป็นบี 3 ใช้ประมาณเดือนละ 41,818 ตัน เพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 68,818 ตัน เมื่อเป็นบี 5