ผศ.ดร.พลพัฒน์ รวมเจริญ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้งานวิเทศสัมพันธ์ และ ฝ่ายวิชาการ ร่วมกับโปรแกรมวิชาพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สงขลา จัดกิจกรรมความร่วมมือทางวิชาการด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ร่วมกับมหาวิทยาลัยปุตรา มาเลเซีย (Faculty of Human Ecology, Universiti Putra Malaysia) โดยมีการบรรยายพิเศษ การอภิปรายกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวิชาการระหว่างนักศึกษาไทยและมาเลเซีย ซึ่งตัวแทนผู้บริหารจาก ม.ปุตรา ได้บรรยายเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างประเทศ และโอกาสในการทำงานด้านพัฒนาชุมชนร่วมกัน เนื้อหาการบรรยายชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันบทบาทของทุกๆ มหาวิทยาลัย นอกจากจะสร้างองค์ความรู้ให้แก่นักศึกษาแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ติดชายแดน ซึ่งมหาวิทยาลัยในภาคใต้ของไทยมีชายแดนติดกับมาเลเซีย มีวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ที่คล้ายคลึงกัน ถือเป็นศักยภาพที่ก่อให้เกิดความร่วมมือด้านการพัฒนาชุมชน ดังนั้น จึงเป็นโอกาสในการสร้างความร่วมมือร่วมกัน โดยใช้จิตวิทยาสังคมเป็นเครื่องมือสำคัญทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ผศ.ดร.พลพัฒน์ กล่าวว่า นอกจากการบรรยายดังกล่าวแล้ว ยังมีการประชุมเชิงปฏิบัติการทางวิชาการร่วมกัน (Academic workshop) ระหว่างนักศึกษา มรภ.สงขลา กับนักศึกษาของ ม.ปุตรา โดยมีผู้ดำเนินรายการจากทั้งสองมหาวิทยาลัยคือ Dr. Shamsul Azahari Zainal Badari อ.มาริสา จันทร์ฉาย อ.นฤภร ไชยสุขทักษิณ อ.สุปราณี ชอบแต่ง อ.นันทิยา ศรีวารินทร์ และ อ.เทียนชัย สุริมาศ นำไปสู่การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ใหม่ๆ ได้มิตรภาพระหว่างประเทศ และได้ประสบการณ์ในการปฏิสัมพันธ์กับชาวต่างชาติ ซึ่งการจัดกิจกรรมความร่วมมือด้านวิชาการร่วมกับ ม.ปุตรา เป็นครั้งแรกนี้ เป็นการขยายผลความร่วมมือจากด้านพัฒนานักศึกษาและกีฬาไปสู่วิชาการ ตามโรดแมปด้านการสร้างความร่วมมือกับนานาชาติ โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการเชิญนักวิชาการต่างชาติมาบรรยายให้นักศึกษาฟังอย่างสม่ำเสมอ
ในโอกาสเดียวกันนี้ กองพัฒนานักศึกษา มรภ.สงขลา ได้ให้การต้อนรับนักศึกษาจาก ม.ปุตรา อีกกลุ่มหนึ่ง จำนวน 30 คน ซึ่งเดินทางมาร่วมกิจกรรม SKRU and UPM Student and Sports Mobility Program โดยตัวแทนนักศึกษาของทั้งสองมหาวิทยาลัย ได้เรียนรู้วัฒนธรรมและกีฬาร่วมกับผู้นำนักศึกษา และตัวแทนนักศึกษาของทุกคณะรวมทั้งมีการทำกิจกรรมกลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มประกอบไปด้วยนักศึกษาของทั้งสองประเทศ ช่วยกันอภิปรายในหัวข้อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมนักศึกษา ชุมชน และการเรียน ทำให้เกิดแนวความคิดใหม่ ๆ ในการทำกิจกรรม เช่น กิจกรรมค่ายเยาวชนจิตอาสาระหว่างประเทศ ปลูกป่าช่วยโลก เป็นต้น
ด้าน ดร.พิพัฒน์ ลิมปนะพิทยาธร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มรภ.สงขลา กล่าวว่า จากการประชุมหารือเกี่ยวกับการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันต่อจากนี้ คาดว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนอาจารย์ในสาขาพัฒนาชุมชน หรืออาจมีการจัดสัมมนาในรูปแบบเช่นนี้อีก ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพทางวิชาการ และช่วยให้ให้สัมพันธภาพของทั้งสองมหาวิทยาลัยแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น