อย่างไรก็ดี ตนเองเห็นว่า ควรให้การช่วยเหลือมากกว่าค่าใช้จ่ายเรื่อง Must Carry โดยสนับสนุน ประสานงานกับทางภาครัฐให้มีการขยายระยะเวลาชำระเงินค่าประมูลให้ยาวออกไป ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกอบการประสบปัญหาทางธุรกิจ แต่ยังให้ความร่วมมือกับนโยบายการสื่อสารกับประชาชนของภาครัฐเป็นอย่างดี โดยนำเสนอมาตรการนี้ต่อหน่วยงานต่างๆเพื่อพิจารณา เช่น กระทรวงการคลัง สำนักอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
กสทช.ธวัชชัย ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ควรมีการทำประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในเรื่องทีวีดิจิตอลให้มากกว่านี้ หากพิจาณาจากมูลค่าโครงการที่สูงถึง 50,862 ล้านบาทการทำประชาสัมพันธ์เพียง 50 กว่าล้านบาทถือว่าน้อยมาก ดังนั้นต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ครอบคลุมมากว่าเดิม รวมทั้งการแจกคูปองเพิ่มเติมให้ครบตามจำนวนครัวเรือน จากครั้งแรกแจกคูปองแลกกล่องดิจิตอลทีวี จำนวน 13.6 ล้านครัวเรือน และมีการอนุมัติแจกคูปองเพิ่มอีก 10.5 ล้านครัวเรือน
อีกจุดหนึ่งที่ช่วยเหลือได้ คือค่าโครงข่ายทีวีดิจิตอลในช่วงเวลาที่ช่องรายการต้องถอดทอดพระราชพิธีต่างๆ เนื่องจากช่องรายการได้ให้ความร่วมกับ กสทช. เป็นอย่างดีในการปฏิบัติตามกฎ กติกา โดยอาจใช้เงินส่วนเกินของ กสทช. ที่มีรายรับเหนือรายจ่ายซึ่งน่าจะครอบคลุมได้ แต่ต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการก่อน
ก่อนหน้านี้มีการขอกันวงเงินจำนวน 15,000 ล้านบาทจากค่าประมูล 5หมื่นกว่าล้านบาท เพื่อแจกคูปองทีวีดิจิตอลให้กับประชาชนทั้งประเทศ แต่การแจกคูปองครั้งแรก ใช้เม็ดเงินไปไปเพียง 5,934 ล้านบาท ยังมีเงินเหลือเพื่อดำเนินการสนับสนุนด้านอื่น นอกเหนือจากการแจกคูปอง
"ที่ผ่านมาผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีมาก ในนโยบายของรัฐทุกเรื่อง แม้ว่าบางเรื่องอาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ดังนั้น กสทช. ไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการ ในขณะเดียวกันก็มองถึงประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดกับประชาชนในการเข้าถึงระบบทีวีดิจิตอลด้วย หากผู้ประกอบการทยอยยกเลิกกิจการอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน ทีจะไม่สามารถรับชมโทรทัศน์ได้ ความจริงโครงการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอล เป็นโครงการใหญ่ มีเงินที่ได้จากการประมูลทีวีดิจิตอลถึง 50,862 ล้านบาท หากใช้เงินภายในวงเงินที่ขอไว้ก็จะไม่ส่งผลต่อเงินที่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน" กสทช.ธวัชชัย กล่าว