นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Development Bank) เปิดเผยว่า เชื่อว่าธนาคารของรัฐแต่ละแห่งไม่ได้นิ่งนอนใจ ต่อกรณีกระแสข่าวหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของระบบธนาคารพาณิชย์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนั้น เช่นเดียวกับนโยบาย ธพว. ที่เน้นภารกิจให้ความช่วยเหลือสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ที่ประสบปัญหา พร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระบบ และเชื่อมั่นว่าปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (ก.ย. - ต.ค. 2559) ธพว. สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้ดำเนินปรับเงื่อนไขและปรับโครงสร้างหนี้ได้จำนวนกว่า 1,800 ราย เป็นจำนวนเงินกว่า 2,300 ล้านบาท ซึ่งในปี 2559 ได้ให้ความช่วยเหลือและคำปรึกษาไปแล้ว 12,000 ราย จำนวนเงิน 13,000 ล้านบาท ปรับสถานะเป็นลูกหนี้ที่ชำระตามปกติไม่มีฐานะเป็น NPL และสามารถชำระหนี้ได้อย่างต่อเนื่อง แบ่งเป็น เจรจาปรับเงื่อนไข (DR) และปรับโครงสร้างหนี้ (TDR) กว่า 8,800 ราย วงเงินกว่า 11,000 ล้านบาท ช่วยปรับชั้นลูกหนี้ให้อยู่ในเกณฑ์สามารถชำระหนี้ได้กว่า 700 ราย วงเงินกว่า 470 ล้านบาท จัดเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ไตรมาส 3 และไตรมาส 4 รวม จำนวนกว่า 2,100 ราย เป็นจำนวนเงินกว่า 1,000 ล้านบาท
"ธพว. พยายามหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการทางกฎหมายกับผู้ประกอบการ SMEs รายย่อย ซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคาร โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ยังดำเนินธุรกิจอยู่ และให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา ขอเพียงผู้ประกอบการ SMEs อย่าหนีปัญหา ไม่ต้องกลัวที่จะมาพูดคุยเจรจากับเจ้าหน้าที่ของธนาคาร สถานการณ์เช่นนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการแข่งขัน เป็นเรื่องชั่วคราวเท่านั้น
ดังนั้น ธพว. ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐไม่ได้นิ่งนอนใจ และเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาของการทำธุรกิจ SMEs โดยผู้ประกอบการ SMEs สามารถติดต่อเจรจาลดจำนวนเงินค่างวด ขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไป หรือประนอมชำระหนี้ โดยของดการขายทอดตลาดหลักประกันชั่วคราว หรือขอความช่วยเหลือด้านอื่นๆ จากธนาคารได้ อาทิ ด้านการตลาด ด้านการบริหารจัดการ ด้านภาษี ด้านการเงิน ตลอดจนด้านการปรับปรุงดีไซน์บรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัย สร้างมูลค่าสินค้าเพิ่มขึ้น รวมถึงการเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายสู่ตลาดโลกผ่าน Alibaba.com โดยติดต่อผ่าน Call Center 1357" นายมงคลกล่าวในที่สุด