นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 3/2559 (กรกฎาคม-กันยายน) ว่า บริษัทและบริษัทย่อย มีรายได้รวม 1,041 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 784 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 100 ล้านบาท สามารถพลิกกลับมาเป็นบวกจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 7.14 ล้านบาท โดยมีอัตรากำไรขั้นต้น 21.33 % เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ในระดับ 13 % มีอัตรากำไรสุทธิ 9.60 % โดยกำไรที่เติบโตขึ้นมาจาก ราคาน้ำตาลทรายที่ปรับตัวสูงขึ้น รายได้จากการเปลี่ยนสัญญาขายไฟระบบ adder เป็นระบบ FiT ของโรงไฟฟ้าบุรีรัมย์พลังงาน และเงินชดเชยค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย กรณีกากน้ำตาลเสียหายเมื่อช่วงต้นปี
สาเหตุที่ผลประกอบการพลิกกลับมาเป็นบวกในไตรมาสนี้ มาจากการเพิ่มขึ้นของ 2 ธุรกิจหลักคือธุรกิจน้ำตาลทราย และธุรกิจไฟฟ้าชีวมวลโดยการดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายมีกำไร 78 ล้านบาท หลังบริษัทได้รับราคาขายเพิ่มสูงขึ้นจากเฉลี่ยในระดับ 13 - 14 เซนต์/ปอนด์ในช่วงต้นปี เป็น 18 - 19 เซนต์/ปอนด์ ในช่วงไตรมาสนี้ ซึ่งเป็นไปตามกลไกราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะผลผลิตถดถอยของประเทศผู้ผลิตสำคัญๆ อันเนื่องมาจากปัญหาสภาพอากาศ ขณะที่ปริมาณน้ำตาลทรายส่งออกก็เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ประกอบกับบริษัทมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านวัตถุดิบคือผลผลิตอ้อยที่มีคุณภาพความหวานสูงขึ้น การให้ความรู้เกษตรกรและชาวไร่อ้อย ตลอดจนการควบคุมต้นทุนในการบริหารจัดการที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทสามารถกลับมามีกำไรได้ แม้ว่าจะมีปริมาณการส่งออกน้ำตาลทรายสู่ท้องตลาดไม่มากเนื่องจากเป็นช่วงท้ายฤดูกาลอันเป็นเรื่องปกติของอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายของไทย
ขณะที่ธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าชีวมวล มีกำไร 30 ล้านบาท จากการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น พร้อมกับรายได้ย้อนหลังการเปลี่ยนสัญญาขายไฟระบบ Adder เป็นระบบ FiT ของโรงไฟฟ้าบุรีรัมย์พลังงาน
"ผลประกอบการที่ออกมาแสดงให้เห็นว่าธุรกิจของบริษัทผ่านจุดต่ำสุดมาเรียบร้อยแล้ว โดยราคาน้ำตาลยังอยู่ในช่วงขาขึ้นคาดว่าจะปรับตัวอยู่ในระดับ 22 - 24 เซนต์/ปอนด์ หลังจากที่ตกลงไปอย่างมากในช่วงเดือนสิงหาคม 2558 ที่ 10 เซนต์/ปอนด์ และค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นการกลับมาค่อนข้างแรงจากภาวะดุลยภาพน้ำตาลทรายของโลกที่อยู่ในภาวะขาดแคลน" นายอนันต์ กล่าว
นายอนันต์ ระบุด้วยว่า แนวโน้มราคาน้ำตาลจะยังอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องไปจนถึงช่วงปี 2560 - 2561 เนื่องจากภาวะขาดแคลนน้ำตาลทรายในตลาดโลกยังดำรงอยู่โดยเฉพาะในประเทศผู้ผลิตสำคัญ เช่น อินเดียและจีน ที่ยังผลผลิตยังไม่ฟื้นตัวจากปัญหาภาวะภัยแล้ง
ด้วยราคาน้ำตาลทรายในปี 2560 ที่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีนี้ เชื่อว่าจะทำให้การจำหน่ายน้ำตาลทรายของบริษัทในปีหน้ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยในช่วงเดือนธันวาคมนี้ บริษัทจะเริ่มเปิดหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลในรอบฤดูการผลิตปี 2559/2560 โดยตั้งเป้า ปริมาณอ้อยเข้าหีบราว 2.3-2.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 2.06 ล้านตันในปีก่อน และตั้งเป้าผลิตน้ำตาลทราย ได้ 2.6-2.7 แสนตัน จากปีก่อนที่อยู่ที่ 2.3 แสนตัน