สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (ซิป้า) เผยผลการสำรวจมูลค่าตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ของประเทศไทยประจำปี 2558 ประกอบด้วยแอนิเมชันและเกม
นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ กล่าวถึงความสำคัญของการสำรวจว่า "ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล คือเศรษฐกิจที่อยู่บนรากฐานของเทคโนโลยีดิจิทัล การสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเป็นพันธกิจที่ซิป้าได้ให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยการสำรวจมูลค่าดิจิทัลคอนเทนต์เป็นประจำทุกปี มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามการเติบโต สภาวะปัจจัย ศักยภาพของอุตสาหกรรมทั้งสาขาแอนิเมชันและเกม เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาสนับสนุนและต่อยอดในเชิงนโยบายของภาครัฐ อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ทางตรงแก่ภาคเอกชนในการนำไปใช้เพื่อวางแผนธุรกิจต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ"
นางสุวิมล เทวะศิลชัยกุล รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ กล่าวถึงผลการสำรวจว่า "ผลการสำรวจตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ไทยในปี 2558 พบว่าอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยมีมูลค่าอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์โดยรวมเติบโต มีมูลค่าสูงถึง 12,745 ล้านบาทเติบโตจากปี 2557 ร้อยละ 12.4 แบ่งออกเป็น 2 สาขา ดังนี้ สาขาแอนิเมชันมีมูลค่า 3,851 ล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 จากปี 2557 ขณะที่สาขาเกมมีมูลค่า 8,894 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 จากปี 2557 โดยอุตสาหกรรมแอนิเมชันและเกมถูกขับเคลื่อนจากการนำเข้าแอนิเมชันและเกมจากต่างประเทศเป็นหลัก แต่สะท้อนมูลค่าการผลิตงานที่มีทรัพย์สินทางปัญญาของตนเองเพิ่มสูงขึ้นร่วมอยู่ด้วย ซึ่งหมายถึงการผลิตแอนิเมชันและเกมของคนไทยได้มีการพัฒนา อันนับเป็นสัญญาณที่ดี
จากการสำรวจ คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมแอนิเมชันจะเติบโตร้อยละ 2.8 ในปี 2559 และจะเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 ในปี 2560 ขณะที่อุตสาหกรรมเกมคาดว่าจะเติบโตร้อยละ9.5 ในปี 2559 และเติบโตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 22.3 ในปี 2560
ในด้านการส่งออกนั้น ในปี 2558 ประเทศไทยมีการผลิตดิจิทัลคอนเทนต์เพื่อการส่งออกรวมทั้งสิ้น 1,545 ล้านบาท ประกอบด้วยสาขาแอนิเมชันซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 499 ล้านบาท สำหรับสาขาเกมมีมูลค่าการส่งออก 1,046 ล้านบาท
การสำรวจตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ในปีนี้ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจากสมาคมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ของประเทศไทย ได้แก่ สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชันและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA) และสมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย (DCAT) สมาคมธุรกิจบางกอกเอซีเอ็มซิกกราฟ (BASA) สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย(TGA) ตลอดจนถึงผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้"
กล่าวโดยสรุป อุตสาหกรรมแอนิเมชันและเกม ยังคงมีมูลค่าการนำเข้าเพื่อบริโภคสูง แต่ผู้ผลิตไทยมีแนวโน้มพัฒนาและสร้างมูลค่าผลิตภายในประเทศให้มากยิ่งขึ้น ปัญหาสำคัญที่สำรวจพบจากทั้ง 2 อุตสาหกรรม คือ บุคลากรยังขาดทักษะในการสื่อสารภาษาต่างประเทศ และในขณะเดียวกันยังคงต้องการให้ภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ทั้งแผนระยะสั้น และระยะยาว เช่น การสนับสนุนเงินทุน เป็นต้น