แถลงการณ์ดังกล่าวประกอบด้วยคำประกาศของหัวหน้ารัฐบาลทั้งสองในเรื่องการขยายขอบเขตความร่วมมือด้านนิวเคลียร์ โดยมีหลักการพื้นฐานอยู่ที่ผลประโยชน์แห่งชาติและผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเท่าเทียม ขณะเดียวกันก็มีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนโครงการขนาดใหญ่ของรอสอะตอมในจีนด้วย
ทั้งนี้ หัวหน้ารัฐบาลทั้งสองสนับสนุนโครงการก่อสร้างร่วมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เทียนวาน 2 โรง ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ในจีนที่ออกแบบโดยรัสเซีย โดยรัฐบาลตั้งใจให้การลงนามในสนธิสัญญาระหว่างรัฐว่าด้วยข้อปฏิบัติของโครงการนี้เสร็จสมบูรณ์โดยเร็ว และพร้อมที่จะน้อมรับมติในข้อสัญญาที่ร่างขึ้นร่วมกัน ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีแผนที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มในจีน และพัฒนาความร่วมมือในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบลอยน้ำ ตลอดจนในด้านเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์นิวตรอน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีรุ่น "เจน 4" (Gen IV) ด้วย
ความสัมพันธ์จีน-รัสเซียในด้านการใช้พลังงานปรมาณูเชิงสันตินี้มีรากฐานมาจากความร่วมมือที่ต่อเนื่องยาวนาน เมื่อปี 2550 ได้มีการทดลองเดินเครื่องโรงไฟฟ้า 2 โรงแรกที่เทียนวาน ซึ่งตามรายงานของผู้เชี่ยวชาญจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ระบุว่าเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ปลอดภัยที่สุดในโลก โดยปัจจุบันกำลังอยู่ในกระบวนการสร้างโรงไฟฟ้าส่วนที่ 2 และมีกำหนดทดลองเดินเครื่องในปี 2561
เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์นิวตรอนที่ใช้โซเดียมเหลวเป็นตัวหล่อเย็น (CEFR) ซึ่งยังอยู่ในขั้นทดลอง ก่อสร้างขึ้นภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญรัสเซีย มีการทดลองเดินเครื่องไปแล้วเมื่อปี 2554 โดยในปีนั้น ขั้นตอนที่ 4 ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมด้วยการปั่นเหวี่ยงแก๊ส ถูกเดินเครื่องทดสอบก่อนกำหนดการที่วางไว้ โดยขั้นตอนดังกล่าวดำเนินการภายใต้ข้อตกลงจีน-รัสเซียปี 2535 ต่อมาในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2557 บริษัทนิวเคลียร์แห่งชาติจีนและรอสอะตอม โอเวอร์ซีส์ ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบลอยน้ำ (FNPP) ซึ่งจีนจะใช้นำจ่ายไฟฟ้าไปยังพื้นที่หมู่เกาะและแหล่งไฮโดรคาร์บอนนอกชายฝั่ง นอกจากนี้ จีนและรัสเซียยังจะร่วมมือกันในด้านผลิตภัณฑ์ไอโซโทปด้วย
รัสเซียกระชับสัมพันธ์ด้านพลังงานปรมาณูกับไทย
รัสเซียกำลังสร้างความร่วมมือด้านการใช้พลังงานปรมาณูเชิงสันติกับไทย เมื่อเดือนกันยายน 2557 รอสอะตอมและสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติของไทยได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการใช้พลังงานปรมาณูเชิงสันติร่วมกัน โดยเอกสารฉบับนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการประสานงานด้านพลังงานปรมาณูระหว่างทั้งสองประเทศและได้กำหนดข้อตกลงเฉพาะสำหรับการจัดตั้งและดำเนินโครงการขึ้น ความร่วมมือครั้งนี้จะครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ดังนี้: การวิจัยพื้นฐานและการวิจัยประยุกต์ / ไอโซโทปรังสี / ความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ / การป้องกันกายภาพและรังสี / การบริการวัฏจักรเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ / การจัดการกากนิวเคลียร์ / การให้ความรู้ / การอบรมและอบรมขั้นสูงสำหรับผู้บริหาร และบุคลากรทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม