เปิดแนวคิด 4 นักเรียนทุนพระราชทาน “อานันทมหิดล แผนกธรรมศาสตร์”

พฤหัส ๑๗ พฤศจิกายน ๒๐๑๖ ๑๑:๔๕
"...การจะพัฒนาชาติได้ ต้องพัฒนาคนก่อน..." หนึ่งในพระราชดำรัสด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาที่มีส่วนช่วยพัฒนาและบ่มเพาะบุคคลให้มีศักยภาพ มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์เฉพาะด้าน โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อตั้ง "มูลนิธิอานันทมหิดล" เมื่อปี พ.ศ.2498 พร้อมทั้งพระราชทานนามทุนว่า "อานันทมหิดล" เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ในสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ด้วยมุ่งสนับสนุนและส่งเสริมให้นักเรียนไทยที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการในสาขาต่าง ๆ พร้อมด้วยการมีคุณธรรมสูงได้มีโอกาสไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ในศาสตร์เฉพาะทางที่ตนถนัดถึงขั้นสูงสุด เพื่อนำองค์ความรู้และวิทยาการที่ได้กลับมาพัฒนาประเทศชาติให้มีความก้าวหน้าตามลำดับ

สำหรับบัณฑิตธรรมศาสตร์จะได้รับพระราชทานทุนในชื่อ "ทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกธรรมศาสตร์" ซึ่งเป็นทุนพระราชทานให้เปล่า ไม่มีข้อผูกมัด ไม่จำกัดวงเงิน และไม่จำกัดจำนวนปีการศึกษาที่นักศึกษาต้องการเรียนรู้จนถึงขั้นสูงสุด เพียงแต่นำความรู้ที่ได้กลับมาช่วยพัฒนาประเทศชาติในทางใดทางหนึ่ง โดยที่ผ่านมา ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เคยได้รับพระราชทานทุนดังกล่าว นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 จวบจนถึงปัจจุบัน ยังคงทำหน้าที่ลูกที่ดีของพ่อหลวงในการสืบสานพระราชปณิธาน และพระราชดำรัสในด้านการศึกษา การพัฒนาคน ตลอดจนการทำประโยชน์ให้กับสังคมโดยรวมอย่างต่อเนื่อง

ดร.รัตนา แซ่เล้า ศิษย์เก่าดีกรีเกียรตินิยมอันดับ 1 จากโครงการปริญญาตรีหลักสูตรอังกฤษ-อเมริกันศึกษา (หลักสูตรนานาชาติ) จากคณะศิลปศาสตร์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยปรีดี พนมยงค์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ.2549 ได้กล่าวความประทับใจที่มีต่อทุนพระราชทานนี้ว่า ทุนอานันทมหิดลฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันผู้มีความเป็นเลิศทางวิชาการ ได้มีโอกาสไปเก็บเกี่ยวความรู้ในขั้นสูงยังต่างประเทศก่อนนำกลับมาพัฒนาประเทศชาติให้ดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งสอดรับกับความตั้งใจของตนที่มองว่า การศึกษามีส่วนสำคัญยิ่งในการช่วยพัฒนาคุณภาพคน และประเทศชาติให้ดียิ่งขึ้น โดยก่อนที่จะเดินทางไปศึกษาต่อ ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพฯ ซึ่งขณะนั้นเสด็จฯ มาเป็นผู้แทนพระองค์ เพื่อให้พระราโชวาทแก่นักเรียนทุน ซึ่งท่านได้ตรัสถามว่า "การไปศึกษาต่อต่างประเทศครั้งนี้ ตั้งใจไปเรียนเพื่อใคร และจะพัฒนาใคร หากเรียนเพื่อลูกหลานของเพื่อนฉัน การศึกษาคือ การพูดในสำเนียงบริติช แต่หากไปเรียนเพื่อเยาวชนของฉัน (เยาวชนในโครงการในพระราชูปถัมภ์ และเด็กนักเรียนในถิ่นทุรกันดาร) การศึกษาคือ การอ่านออกเขียนได้"

ทั้งนี้ จากพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพฯ ในครั้งนั้น ทำให้ตนรับรู้ได้ถึงความใส่พระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยเยาวชนของท่านให้ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง พร้อมกับตั้งปฏิญาณกับตนเองว่าจะทำหน้าที่ในฐานะนักเรียนทุนพระราชทานอย่างสุดความสามารถ โดยครั้งนั้นได้เลือกศึกษาต่อระดับปริญญาโท ในสาขานโยบายการพัฒนา วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน สหราชอาณาจักร และระดับปริญญาเอก ในสาขาการศึกษาเปรียบเทียบ แผนกรัฐศาสตร์ วิทยาลัยศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา โดยใช้เวลาศึกษาเรียนรู้จนสำเร็จถึง 6 ปีก่อนเดินทางกลับมาเป็นอาจารย์ประจำวิชาการเมืองไทยและวิชาสังคมและเศรษฐกิจการพัฒนาไทย ในปี 2558 ที่วิทยาลัยปรีดี พนมยงค์ มธ. ในหลักสูตรนานาชาติ ที่เกี่ยวข้องในเรื่องของทฤษฎี รวมถึงนโยบายการพัฒนาประเทศและการเมืองไทย ซึ่งนับเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง ด้วยมีความตั้งใจและได้ยึดถือพ่อหลวงเป็นแบบอย่าง ในเรื่องของ "ความทุ่มเท" ที่ทรงทำงานเพื่อพัฒนาประเทศชาติด้วยความใส่พระราชหฤทัย

อย่างไรก็ตาม ในระยะเวลาอีก 5-10 ปีข้างหน้า ตนมีความมุ่งมั่นและตั้งใจทำหน้าที่ในฐานะผู้ถ่ายทอดความรู้แก่ผู้เรียนอย่างสุดความสามารถ ขณะเดียวกันก็จะเก็บเกี่ยวความรู้เพิ่มเติมในเรื่องเทคนิคการสอน พร้อมทั้งนำความรู้ที่มีมาบูรณาการและพัฒนางานวิจัยด้านการศึกษา เพื่อผลิตงานวิจัยคุณภาพคืนสู่สังคมและประเทศชาติต่อไป ควบคู่ไปกับการไม่หยุดนิ่งที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ เนื่องจากประสบการณ์สอนที่ผ่านมาที่เน้นให้ผู้เรียนตั้งคำถามนั้น ทำให้ตนได้รับรู้ว่า ยังมีอีกหลายสิ่งอันเป็นสิ่งใหม่ที่ยังไม่รู้อีกมาก

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูริ ฟูวงศ์เจริญ ดีกรีศิษย์เก่า "สิงห์แดง" เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง สาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปัจจุบันกลับมาทำหน้าที่เป็นอาจารย์ประจำคณะเดิมที่ตนสำเร็จการศึกษา ผู้ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2551 ได้กล่าวถึงทุนพระราชทานนี้ว่า เป็นทุนการศึกษาอันดับต้นๆ ของประเทศไทย และถือเป็นโครงการในพระราชดำริที่มีส่วนสำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศชาติด้านวิชาการ ซึ่งตนและถึงครอบครัว รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่ได้รับพระราชทานทุนอันทรงเกียรตินี้ อีกทั้งมีความตั้งใจที่จะพยายามนำความรู้ที่ได้รับกลับมาทำประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ โดยสาขาวิชาที่เลือกศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก คือ สาขาวิชารัฐศาสตร์และการระหว่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์สหราชอาณาจักร เนื่องด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของสาขาวิชาดังกล่าว ประกอบกับประเทศไทยยังต้องการนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญทางรัฐศาสตร์อีกเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ เมื่อครั้งก่อนเดินทางออกไปศึกษาต่อ ยังได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อกราบบังคมทูลลา และรับพระราชทานพระราโชวาท ซึ่งพระองค์ทรงมีข้อแนะนำเรื่องการศึกษาว่า "ให้ตั้งใจเล่าเรียนหาความรู้ทั้งในห้องเรียน และนอกห้องเรียน เพื่อให้เกิดความรู้ความเชี่ยวชาญ ควบคู่ไปกับการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ" ซึ่งนับเป็นคำสอนที่ให้แรงบันดาลสำคัญในการเรียนต่อจวบจนระดับปริญญาเอก สุดท้าย เมื่อสำเร็จการศึกษาเรียบร้อยแล้วตอนสิ้นปี พ.ศ. 2556 ได้กลับมาตอบแทนคุณแผ่นดินในทันที โดยตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ได้ผลิตผลงานวิชาการ และถ่ายทอดความรู้ด้านรัฐศาสตร์ให้แก่นักศึกษาอย่างเต็มความสามารถ อีกทั้งมุ่งเจริญรอยตามแบบอย่างของพ่อหลวงด้วยการเพียรสร้างความเป็นเลิศ และพยายามพัฒนาความเชี่ยวชาญในสิ่งที่ตนทำอยู่ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

ขณะที่ นายตะวัน มานะกุล ศิษย์เก่าจากสิงห์แดง เกียรตินิยมอันดับ 1 ในสาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อยู่ระหว่างรอศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกด้านทฤษฎีการเมือง) นักเรียนทุนพระราชทานอานันทมหิดล แผนกธรรมศาสตร์ ปี พ.ศ.2557 กล่าวถึงความภาคภูมิใจในฐานะนักเรียนทุนพระราชทานครั้งนี้ว่ารู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ และเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับทุนพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประกอบกับได้รับทราบเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดลในหลายปีที่ผ่านมายิ่งทำให้ตนรู้สึกว่าทุนดังกล่าวเป็นทุนการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ ที่ได้มอบโอกาสและสร้างบุคลากรที่กลับมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศจำนวนมาก ดังนั้นตนจึงได้เลือกศึกษาต่อระดับปริญญาโท ในสาขาทฤษฎีการเมือง ที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน สหราชอาณาจักร เนื่องจากเป็นสถาบันการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญสูงสุด ประกอบกับเป็นประเทศที่มีระบอบการปกครองและประสบการณ์ทางการเมืองที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย ซึ่งจะสามารถนำมาเชื่อมโยงและประยุกต์ใช้ร่วมกันได้ในหลากแง่มุม

ทั้งนี้ ภายหลังจากสำเร็จการศึกษาจนถึงขั้นสูงสุดในระดับปริญญาเอก ซึ่งนับระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า ตนมีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งว่า จะกลับมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เพื่อนำทุกองค์ความรู้ที่ได้รับมาถ่ายทอดแก่นักศึกษา ตลอดจนประยุกต์ใช้ความรู้ในทุกทฤษฎีมาพัฒนาประเทศเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุก ๆ ด้านเพื่อเป็นการเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนและการศึกษา ด้วยความวิริยะอุตสาหะและการตั้งใจโดยแท้จริง

อีกทั้งยังเป็นการสานต่อพระปณิธานของสมเด็จพระเทพฯ ที่ได้รับสั่งไว้เมื่อครั้งมีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศว่า "ประเด็นเรื่องทฤษฎีหรือแนวคิดทางเมืองเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่มีผู้เรียนมากนัก อยากให้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนให้แตกฉาน แล้วหาทางนำความรู้มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย"

และล่าสุด นางสาวศิรินทร์ ตั้งพรไพบูลย์ นักเรียนทุนพระราชทานอานันทมหิดล แผนกธรรมศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับ 1 จากคณะเศรษฐศาสตร์ (อยู่ระหว่างรอเดินทางไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและเอก ที่สหราชอาณาจักร) ผู้ได้รับทุนพระราชทานอานันทมหิดล แผนกธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2559 ได้กล่าวถึงทุนพระราชทาน จากมูลนิธิอานันทมหิดลว่า "ทุนอานันทหิดล แผนกธรรมศาสตร์" ถือเป็นทุนพระราชทานที่ยิ่งใหญ่และทรงคุณค่ายิ่ง ซึ่งนอกจากจะเป็นการมอบโอกาสในการศึกษาต่อแล้ว ยังเป็นทุนที่สร้างพลังใจที่ท้าทายในการศึกษาต่อระดับปริญญาโทซึ่งตนได้วางแผนศึกษาเพิ่มเติมในสาขาวิชาการวางแผนการศึกษา ที่มหาวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ลอนดอน สหราชอาณาจักร ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาในเด็กไทย และปัญหาของระบบการศึกษาไทยในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมาผ่านประสบการณ์การเป็นคุณครูสอนนักเรียนในโครงการ Teach For Thailand ตลอด 1 ปีเต็ม ด้วยมองว่าความรู้ในด้านทฤษฎีและการวางแผนด้านการศึกษาที่ได้ จะสามารถช่วยแก้ไขระบบการศึกษาไทยให้มีความทันสมัยและมีระบบมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี ภายหลังจากสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโทแล้ว ตั้งใจเดินหน้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกทันที ในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์เพื่อการศึกษา ที่วิทยาลัยศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา เพื่อนำความรู้ที่ได้กลับมาพัฒนางานวิจัยด้านการศึกษาของไทยให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเป็นฐานข้อมูลชั้นเยี่ยมสำหรับเป็นข้อเสนอต่อนโยบายด้านการศึกษาของภาครัฐ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการดำเนินตามรอยหลักคิดของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยการศึกษา อันจะเป็นการเสริมสร้างและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะสถาบันการศึกษาที่อยู่เคียงคู่สังคมไทยมาตลอด 82 ปี ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาและบ่มเพาะบัณฑิตธรรมศาสตร์ให้มีศักยภาพด้วยองค์ความรู้ด้านวิชาการเฉพาะด้าน ควบคู่ไปกับการมีจิตสาธารณะ ที่มุ่งทำกิจการอันเป็นประโยชน์แก่สาธารณะหรือสังคมโดยรวมเป็นหลัก ด้วยมุ่งหวังให้เป็นกำลังสำคัญหนึ่งที่ช่วยพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ ผ่านการบูรณาการทุกศาสตร์ความรู้ความเชี่ยวชาญอย่างเต็มความสามารถ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๐:๓๔ ดรีมมี่ ร่วมด้วยช่วยฟื้นฟูผู้ประสบภัยหลังน้ำลด สมทบทุน-มอบสินค้าอุปโภคบริโภค และของใช้จำเป็น รวมมูลค่ากว่า 300,000
๐๕ พ.ย. กทม. เฝ้าระวังฝนฟ้าคะนอง-ลมกระโชกแรง เข้มตรวจสอบความแข็งแรงอาคารและป้ายโฆษณา
๐๙:๓๗ EXIM BANK แถลงผลการดำเนินงานเดือนมกราคม-กันยายน 2567 ปลดล็อกศักยภาพผู้ประกอบการไทยสู่เวทีโลก สร้างโลกเติบโตยั่งยืน
๐๙:๑๐ ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น ร่วมออกบูธในงาน Pet Fair Southeast Asia 2024 นำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง
๐๙:๒๗ มิลเลนเนียม ออโต้ กรุ๊ป กระตุ้นความเร้าใจเต็มสูบ กับ BMW 220i Gran Coupe M Sport ฟรีชุดแต่ง M Performance มูลค่าเกือบ 100,000 บาท จัดให้ในราคาพิเศษ 1.99 ล้านบาท เฉพาะที่โชว์รูม BMW Millennium
๐๙:๓๖ CMC ตอกย้ำความสำเร็จส่งท้ายปี ในงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 46 ยอดจอง 145 ยูนิต มูลค่า 320 ล้านบาท
๐๙:๕๑ โพชงพลัส เครื่องดื่มสมุนไพร คว้ารางวัล BUSINESS PRODUCT OF THE YEAR AWARDS 2024
๐๙:๓๒ หุ้นกู้ RT ครั้งที่ 1/67 วันแรกกระแสตอบรับดี นักลงทุนสถาบัน-รายใหญ่ จองซื้อคึกคัก
๐๙:๔๘ อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ เปิดปรากฏการณ์ช้อป 'GREEN RETAIL STORE' สาขาสระบุรี แห่งที่ 33 ชู 'Zero Energy Building'
๐๙:๔๑ 8 หน่วยงานเซ็น MOU เพื่อดำเนินการร่วมกันด้านพลังงาน คมนาคม และสภาพภูมิอากาศ ภายใต้โครงการ TGC EMC ของเยอรมนี