ที่โรงแรม คอร์ทยาร์ด โดยแมริออท กรุงเทพมหานคร องค์การช่วยเหลือเด็กประจำประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน (สพฐ.) องค์การยูนิเซฟ และเครือข่ายโรงเรียนปลอดภัยในประเทศไทย จัดการประชุมสัมมนาเพื่อพิจารณาร่าง "คู่มือความปลอดภัยจากภัยพิบัติในโรงเรียนสำหรับสถานศึกษาและครู" และเสนอแผนการดำเนินการ โดยมีผู้แทนสถานศึกษาและครูอีกจำนวนกว่า 90 คนทั่วทุกภูมิภาคเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย
นายทิโมธี เมอเรย์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการและการประกันคุณภาพโครงการองค์การช่วยเหลือเด็กกล่าวว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้าเด็กจำนวน 175 ล้านคนทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติซึ่งในจำนวนนี้ก็จะเป็นเด็ก ๆ ที่อยู่ในประเทศไทยด้วย ที่ผ่านมาเด็กๆทุกคนในประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละสภาพพื้นที่ที่เด็กอยู่อาศัยอยู่ ซึ่งจากประสบการณ์การทำงานขององค์การช่วยเหลือเด็กที่พวกเราได้ทำงานในประเด็นภัยพิบัติกับเด็กมาแล้วทั่วโลก ทำให้เราเกิดข้อเรียนรู้ว่าภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับเด็กสามารถบรรเทาความรุนแรงลงได้ด้วยการฝึกให้โรงเรียนเตรียมการรับมือต่อภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น เพราะเมื่อโรงเรียนสามารถวางแผนในการรับมือภัยพิบัติได้ก็จะถ่ายทอดให้เด็กๆ มีความรู้ในการเอาตัวรอดเมื่อเกิดภัยพิบัติได้และจะทำให้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็กนั้นน้อยลงได้ทันทีเช่นกัน ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ องค์การช่วยเหลือเด็กประจำประเทศไทย จึงได้ร่วมกับ สำงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน (สพฐ) เครือข่ายโรงเรียนในประเทศไทย ด้วยการสนับสนุนจากองค์การยูนิเซฟจัดทำหนังสือคู่มือความปลอดภัยจากภัยพิบัติในโรงเรียนสำหรับสถานศึกษาขึ้น
นายทิโมธี กล่าวเพิ่มเติมว่า คู่มือความปลอดภัยจากภัยพิบัติในโรงเรียนสำหรับสถานศึกษาประกอบไปด้วยเนื้อหาที่สำคัญหลายส่วนอาทิส่วนที่หนึ่งแนวคิดหลักเรื่องความปลอดภัยรอบด้านในโรงเรียน การสำรวจความปลอดภัยของอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับเด็กๆ เมื่อเกิดภัยพิบัติ หรือการหามาตรการลดความเสี่ยงของอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโครงสร้าง ส่วนที่สองแนวคิดเรื่องการจัดการภัยพิบัติในโรงเรียนอาทิการประเมินความเสี่ยงภัยในโรงเรียนและชุมชน การจัดทำแผนความปลอดภัยรอบด้านในโรงเรียน การฝึกซ้อมแผน และในส่วนสุดท้ายคือการเรียนการสอนเรื่องลดความเสี่ยงภัยพิบัติ โดยมีการจัดทำหลักสูตรเรื่องการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติไว้สอนเด็กๆ ในโรงเรียนด้วย โดยในเบื้องต้นคู่มือเหล่านี้จะถูกนำไปกระจายใช้ในระดับพื้นที่ ในระดับโรงเรียน และในระดับการบริหารของโรงเรียนต่อไป
ขณะที่ดร. รังสรรค์ วิบูลย์อุปถัมถ์ นักวิชาการการศึกษา องค์การยูนิเซฟ ประจำประเทศไทยกล่าวว่า ประเทศไทยอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติเป็นจำนวนมาก และเด็กจำนวนหลายล้านคนก็มีความเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นดินโคลนถล่มหรือว่าอัคคีภัย ซึ่งในประเทศไทยเองก็มีหลายเหตุการณ์ของการเกิดภัยพิบัติที่ทำให้เด็กๆ ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็นผลกระทบของเด็กๆ จากฝั่งทะเลอันดามันจากเหตุการณ์สึนามิ หรือผลกระทบจากเหตุการณ์ในช่วงน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมาที่โรงเรียนได้รับผลกระทบกว่า 900โรงเรียนและมีเด็กที่ได้รับผลกระทบกว่า1.5 ล้านคน ซึ่งงบประมาณที่จะต้องใช้ในการซ่อมแซมและฟื้นฟูโรงเรียนให้กลับมาสู่สภาพเดิมนั้นก็เป็นเงินในจำนวนที่มาก ดังนั้นเราจึงควรหาแนวทางในการป้องกันและสร้างองค์ความรู้ให้เด็ก ๆ โรงเรียน หรือครอบครัวสามารถเอาตัวรอดเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นได้ ซึ่งการที่เราเข้ามาสนับสนุนต่อรัฐบาลและเครือข่ายโรงเรียนปลอดภัยให้เกิดทำงานร่วมกันทุกภาคส่วนเพื่อที่ลดความเสี่ยงการเกิดภัยพิบัติในภาคการศึกษาครั้งนี้ถือเป็นเรื่องราวที่ดีที่จะทำให้เกิดองค์ความรู้และกระบวนการใหม่ๆ ในการช่วยเหลือเด็กๆ ในประเทศไทยอีกหลายล้านคนได้
ด้านนายธีร์ ภวังคนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์ขับเคลื่อนนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพื่อความเป็นธรรมในสังคมของกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ในส่วนของการจัดทำหนังสือคู่มือความปลอดภัยจากภัยพิบัติในโรงเรียนสำหรับสถานศึกษานั้นเราสนับสนุนทุกฝ่ายให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเต็มที่ ซึ่งปัจจุบันคู่มือฉบับนี้ได้ถูกนำไปทดลองใช้ในสถานศึกษาหลากหลายแห่งที่เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติแล้ว โดยความมุ่งหวังในการปรับใช้คู่มือเข้ากับการเรียนการสอนก็เพื่อต้องการให้เด็กๆ ได้มีกระบวนการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งกว่าเดิมให้เด็กๆ สามารถที่จะเผชิญเหตุได้ ทั้งนี้ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้จับมือทำงานกับองค์กรระหว่างประเทศในการช่วยเหลือเด็กในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งคู่มือฉบับนี้จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่พวกเราหลายฝ่ายได้ทำงานร่วมกันเพื่อช่วยอุดช่องว่างของการช่วยเหลือเด็กๆ เมื่อเกิดภัยพิบัติได้ นอกจากคู่มือฉบับนี้จะถูกนำไปบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนแล้วความพิเศษของคู่มือก็คือชุมชนก็สามารถนำคู่มือไปปรับใช้ให้เหมาะกับความเสี่ยงในพื้นที่ของตนเองได้เพราะในเนื้อหาของคู่มือแล้วเป็นการเปิดกว้างให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมได้
ขณะที่นางสาวเมธิญา ยะขาว อาจารย์จากโรงเรียนบ้านผาเดื่อ อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงรายซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้กล่าวว่า การที่พวกเราหลายฝ่ายโดยเฉพาะครูเองได้เข้าร่วมอบรมการใช้คู่มือความปลอดภัยจากภัยพิบัติในโรงเรียนสำหรับสถานศึกษา ถือเป็นเรื่องที่ดีมากเพราะโรงเรียนในพื้นที่เสี่ยงหลายแห่งจะได้เตรียมตัวและมีวิธีปฏิบัติที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้ สำหรับโรงเรียนในพื้นที่ของตนนั้นเป็นภูเขา และเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติจากดินโคลนถล่ม น้ำป่าไหลหลาก แผ่นดินไหว ไฟป่า ภัยหนาว ภัยแล้ง และเด็กๆ ที่เข้ามาเรียนที่โรงเรียนของเราก็จะเป็นเด็กๆ จากกลุ่มชาติพันธุ์ ครั้งแรกที่เราถามเด็กๆ ว่าเขารู้หรือไม่ว่าภัยพิบัติคืออะไรเด็กๆ ไม่สามารถตอบได้ ซึ่งหนึ่งในประเด็นปัญหาคือเรื่องภาษา ซึ่งจะทำให้เด็กๆ ไม่มีทักษะการเอาตัวรอดเมื่อเกิดภัยพิบัติได้ เมื่อเล็งเห็นถึงปัญหาแล้วตนจึงได้นำคู่มือฉบับนี้ไปแปลเป็นภาษาชาติพันธ์ของเด็กๆ และทำออกมาเป็นสื่อการเรียนการสอนที่เด็กๆ สามารถเข้าใจและรู้จักวิธีในการเอาตัวรอดเมื่อเกิดภัยพิบัติได้ อาทิจัดทำออกมาในรูปแบบหนังสือภาพความรู้เพื่อให้เด็กๆ เรื่องทำไมดินบ้านฉันสไลด์ ทำไมน้ำป่าไหลหลาก เกิดอะไรขึ้นเมื่อมีลมพายุและไฟมา เหตุใดไฟจึงไหม้ป่า ฟ้าผ่าเพราะอะไร ซึ่งเมื่อเด็กๆ ได้อ่านแล้วก็สามารถเข้าใจสาเหตุของการเกิดภัยพิบัติและรู้วิธีในการเอาตัวรอดเมื่อเกิดภัยพิบัติได้