ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล เปิดเผยว่า ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559 พบว่าสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2559 ประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วย สะสมรวม 55,073 ราย มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต 52 ราย สำหรับในพื้นที่ เขต 12 พบผู้ป่วย 8,574 ราย โดยพบผู้ป่วยสูงสุดที่จังหวัดสงขลา จำนวน 3,553 ราย รองลงมาได้แก่จังหวัดนราธิวาส จำนวน 1,211 ราย ปัตตานี จำนวน 1,193 ราย พัทลุง จำนวน 1,082 ราย ตรังจำนวน 682 ราย ยะลา จำนวน 543 ราย และสตูล 310 ราย ตามลำดับ และมีผู้เสียชีวิตทั้งหมดจำนวน 15 ราย สำหรับจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดมีเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวน 311 ราย ซึ่งมากกว่า 2.17 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา ในส่วนของจังหวัดสงขลานั้นขณะเป็นจังหวัดที่มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศ รองจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดเชียงใหม่
ในช่วงหน้าฝนนี้เป็นช่วงที่มีการระบาดของโรคที่เกิดจากยุงลายสูงที่สุด เนื่องจากสภาพพื้นที่ที่มีน้ำขังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย โรคที่ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษในช่วงนี้จึงเป็นโรคที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งนอกจากโรคไข้เลือดออกแล้ว ยังมีโรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา อีกด้วย ซึ่งตามเกณฑ์ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดไว้ว่าสถานที่ต่างๆ ในชุมชน ได้แก่ ศาสนสถาน โรงงาน โรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม เป็นสถานที่ที่ไม่ควรจะพบลูกน้ำยุงลายเลย เนื่องจากอาจทำให้เกิดการระบาดของโรคในชุมชนได้ ซึ่งจากการสำรวจลูกน้ำยุงลายในสถานศึกษาที่ผ่านมา พบแหล่งเพาะพันธุ์บริเวณบ้านพักเจ้าหน้าที่ ในภาชนะรองกระถางต้นไม้ อ่างบัว ภาชนะที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ อ่างน้ำใช้ในห้องน้ำ แจกันพลูด่าง ภาชนะใส่น้ำดื่ม เป็นต้น การร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออกในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้ลงพื้นที่สำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในสถานศึกษา และเรียนรู้การป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกตามมาตรการ 3 เก็บ ของกรมควบคุมโรค คือ เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ
ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล กล่าวเพิ่มเติมว่าโรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดเชื้อไวรัสเดงกี่มียุงลายบ้านเป็นพาหนะนำโรคมาสู่คน อาการที่สำคัญของโรคไข้เลือดออก คือ มีไข้สูงเฉียบพลัน ไม่มีน้ำมูก ไข้สูงลอยประมาณ 2-7 วัน และมีอาการเลือดออก ส่วนใหญ่จะพบจุดเลือดออกที่ผิวหนัง ตับ และในบางรายที่มีอาการรุนแรงจะมีภาวะช็อกแทรกซ้อนเป็นเหตุเสียชีวิตได้ จึงขอให้ประชาชนป้องกันตนเองจากโรคไข้เลือดออกด้วยการหมั่นทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณที่อยู่อาศัยทุกๆสัปดาห์หลีกเลี่ยงป้องกันไม่ให้ยุงกัด หากมีอาการไข้สูงลอยไข้ไม่ลดภายใน 2-3 วัน ให้สงสัยว่าเป็นโรคไข้เลือดออก ไม่ควรซื้อยาแก้ไข้หรือยาชุดรับประทานเอง ให้รีบพบแพทย์ทันที หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการป้องกันโรคไข้เลือดออก สามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422