อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ โวยเหล็กจีนยังทะลักเข้าไทย ย้ำมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(เอดี) จำเป็น เพื่อสมดุลการค้าที่เป็นธรรม วอนรัฐเอาจริงปราบผู้เลี่ยงอากร

จันทร์ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๐๑๖ ๑๕:๔๖
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย ผนึกกำลังย้ำสินค้าเหล็กทุ่มตลาดป่วนทั่วโลก ประเทศค้าเสรีใหญ่เล็ก ทั้งอเมริกา สหภาพยุโรป เอเซีย ต่างใช้มาตรการตอบโต้ตามกฎ WTO คำนึงผลประโยชน์และความมั่นคงชาติระยะยาว คงอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศผลิตสินค้ายุทธศาสตร์ของชาติ ควบคู่การค้าสินค้าเหล็กอย่างเป็นธรรม เผยแม้มีมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(เอดี)แล้ว สินค้าเหล็กจีนนำเข้าไทยกลับมีปริมาณเพิ่มขึ้นถึง30% ร้องภาครัฐเร่งมาตรการเอดีและปราบปรามผู้นำเข้าสินค้าเหล็กที่เลี่ยงอากร

นายวิน วิริยประไพกิจ ในฐานะผู้แทนกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย 7 สมาคม อาทิ สมาคมการค้าผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น สมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า สมาคมโลหะไทย และกลุ่มผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก มีสมาชิกรวม 472 บริษัท ชี้แจงว่านับตั้งแต่กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย ได้ประสานภาครัฐเพื่อแจ้งวิกฤติที่อุตสาหกรรมเหล็กของไทยประสบกับการทุ่มตลาดจากต่างชาติ และหารือแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กซึ่งเป็นสินค้ายุทธศาสตร์ของชาติ โดยการดำเนินงานของหน่วยงานหลัก คือ (1) กระทรวงพาณิชย์ (2) กระทรวงอุตสาหกรรม และ (3) กระทรวงการคลัง มีความคืบหน้าเป็นอย่างมากจนสามารถบรรเทาวิกฤติอุตสาหกรรมเหล็กไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของกรมการค้าต่างประเทศซึ่งดูแลการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด มาตรการทางการค้าต่างๆ เพื่อให้เกิดการค้าและการแข่งขันอย่างเป็นธรรม สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ควบคุมการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน และกรมศุลกากรตรวจจับเอาผิดผู้ที่หลบเลี่ยงอากรนำเข้าสินค้าเหล็กอย่างเข้มงวด ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์ของประเทศจากผลกระทบของสถานการณ์เหล็กที่ล้นตลาดโลก ที่เป็นผลมาจากการผลิตเหล็กของจีน ถึงแม้ว่าจีนจะมีนโยบายลดการผลิตลงโดยมีเป้าหมายภายในปี 2563 จะลดกำลังการผลิตเหล็กกล้าลง 100-150 ล้านตันต่อปี อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตเหล็กดิบรวม 9 เดือนไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดย ปี 2559 เท่ากับ 601 ล้านตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2558มีปริมาณรวม 604 ล้านตัน (ข้อมูลจากสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย และWorld Steel Association) ดังนั้น มาตรการต่างๆ จึงยังต้องคงดำเนินการอย่างจริงจังต่อเนื่องและมีบูรณาการ เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

นายวินเผยว่า การพิจารณาใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงว่าประเทศใดและผู้ผลิตรายใดทำการทุ่มตลาดหรือไม่ โดยอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศมั่นใจว่า กระทรวงพาณิชย์ตระหนักถึงวิกฤติที่เกิดขึ้นจริง และความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาสินค้าเหล็กทุ่มตลาด เพื่อให้เกิดสมดุลในการค้าสินค้าเหล็ก (Trade Balance) คือ มีการแข่งขันโดยนำเข้าสินค้าเหล็กในราคาตลาดที่แท้จริงไม่ใช่ราคาทุ่มตลาด และผู้ผลิตเหล็กในประเทศก็ยังสามารถดำรงอยู่ได้โดยมีการใช้กำลังการผลิตในอัตราที่เหมาะสม โดยปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กภายในถดถอยเหลือเพียง 30% เท่านั้น

นายนาวา จันทนสุรคน อุปนายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย เรียกร้องว่าแม้มีมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็กเพื่อลดปัญหาการค้าที่ไม่เป็นธรรมแล้ว ภาครัฐต้องจับตาสถานการณ์และความเคลื่อนไหวเป็นพิเศษ เพราะประเทศจีนและผู้นำเข้าบางรายยังแสดงข้อมูลเท็จ เบี่ยงประเด็น และใช้เล่ห์กลต่างๆ เพื่อหลบเลี่ยงอากรตอบโต้การทุ่มตลาด หรืออากรตอบโต้การนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น

(1) การสำแดงพิกัดศุลกากรอันเป็นเท็จ การเปลี่ยนพิกัดศุลกากร การเปลี่ยนประเภทสินค้าเหล็กที่นำเข้าเป็นโครงสร้างเหล็กสำเร็จรูป การอ้างผลิตเพื่อส่งออกให้ได้รับการยกเว้นอากร เป็นต้น ดังนั้น สินค้าเหล็กทุ่มตลาดจากจีนจึงไม่ได้มีปริมาณลดลงแต่อย่างใด โดยเฉพาะ 9 เดือนแรกของปี 2559 สินค้าเหล็กจากจีนมีปริมาณนำเข้าไทยสูงขึ้นเป็น 4.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 30% จากช่วงเดียวกันของปี 2558

(2) การใช้เวียดนามเป็นฐานรับสินค้าเหล็กจากจีนมาแปรรูปเป็นสินค้าเหล็กซึ่งจีนโดนใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด แล้วส่งออกสินค้าเหล็กดังกล่าวมายังไทยและประเทศอื่นๆ ในอาเซียนอีกทอดหนึ่ง โดยการหลบเลี่ยงเช่นนี้ มีส่วนทำให้ปริมาณการส่งออกเหล็กจากจีนไปเวียดนามเติบโตแบบก้าวกระโดดเกือบ 2 เท่าตัวภายในระยะเวลาเพียง 3-4 ปี โดยคาดว่าจีนจะส่งออกเหล็กไปยังเวียดนามเกือบ 13 ล้านตัน ในปีนี้

ดร. เภา บุญเยี่ยม เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน แสดงความเห็นว่า ปัจจุบันประเทศจีนได้แสดงจุดยืนถึงนโยบายการเร่งการส่งออกสินค้าสำเร็จรูปมากขึ้น ดังนั้นการที่ประเทศจีนมีการส่งออกสินค้าสำเร็จรูปมายังประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มสิ่งก่อสร้าง และส่วนประกอบของสิ่งก่อสร้างที่ทำด้วยเหล็ก และเหล็กกล้า (Pre-Fabricated Steel) จึงไม่ได้มีสาเหตุจากการบังคับใช้มาตรการทางการค้าของไทย แต่เป็นนโยบายของประเทศจีนที่กำหนดมาแล้วตั้งแต่ต้นแล้ว

นอกจากนี้การนำเข้าเหล็กโครงสร้างสำเร็จรูป เช่น โครงสร้างบ้านสำเร็จรูป โครงสร้างอาคารสำเร็จรูป ยังไม่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ควบคุมวัสดุที่ใช้ในการประกอบโครงสร้างสำเร็จรูปดังกล่าว อาทิ เช่น สินค้าเหล็กแผ่น ท่อเหล็ก เหล็กเส้น เหล็กโครงสร้าง จึงอาจจะเป็นวัสดุที่ไม่มีคุณภาพ และอาจจะส่งผลต่อความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนจึงขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการกำหนดให้วัสดุที่นำมาประกอบเป็นโครงสร้างเหล่านี้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของวัสดุแต่ละชนิด เพื่อป้องกันเหล็กด้อยคุณภาพเข้ามาในประเทศ และป้องกันการหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้าอีกทางหนึ่งด้วย

นายวรพจน์ เพียรอภิธรรม นายกสมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น เปิดเผยว่าในระยะหลังนี้ สมอ. ได้เร่งปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์สินค้าท่อเหล็กหลายรายการ เช่น มอก.107, 427, 276 เป็นต้น เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและป้องกันท่อเหล็กด้อยคุณภาพทุ่มตลาดมายังไทย และกระทรวงพาณิชย์ได้พิจารณาเปิดไต่สวนสินค้าท่อเหล็กทุ่มตลาดจากเวียดนาม เพิ่ม โดยย้ำว่านอกจากมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดแล้ว อุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศยังยืนยันและสนับสนุน ให้กระทรวงพาณิชย์เร่งแก้ไขกฎหมายเพื่อสามารถบังคับใช้มาตรการอื่นๆ ที่จำเป็นตามกติกาการค้าโลกเพิ่มเติมด้วย ได้แก่

มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (Anti-Circumvention) เพื่อสามารถเอาผิดผู้นำเข้าบางรายที่ยังคงเลี่ยงอากรตอบโต้การทุ่มตลาดในลักษณะต่างๆ จนทำให้ประเทศชาติเสียประโยชน์จากอากรที่ควรจัดเก็บเป็นรายได้ของชาตินับหมื่นล้านบาทต่อปี

มาตรการตอบโต้การอุดหนุน ตาม พรบ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าต่างประเทศ พ.ศ. 2542 ซึ่งประเทศไทยยังไม่สามารถใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุนได้แต่อย่างใด ซึ่งปัจจุบันจีนมีนโยบายในการอุดหนุนอุตสาหกรรมเหล็กเป็นจำนวนมาก โดยมีนโยบายหลักดังนี้ (1) การอุดหนุนโดยการให้เงินช่วยเหลือ และเงินลงทุน (2) การอุดหนุนโดยการแปลงหนี้เป็นทุน (3) การอุดหนุนโดยการชดเชยค่าวัตถุดิบ (4) การอุดหนุนโดยการคืนอากรกรณีการส่งออก (5) การอุดหนุนโดยให้ใช้พลังไฟฟ้าราคาถูก ซึ่งจากรายงานได้มีการประเมินมูลค่าไว้บางส่วนเท่านั้น คิดเป็นมูลค่าการอุดหนุนจากรัฐบาลกว่า 318 พันล้านหยวนต่อปี (ผลการศึกษาจากสถาบันต่างๆของอเมริกา อาทิเช่น สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าของอเมริกา และสถาบันอเมริกันเหล็กก่อสร้าง และจากสื่อหนังสือพิมพ์ อาทิเช่นBloomberg News) หรือคิดเป็นเงินอุดหนุนกว่า 1.78 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งขณะนี้ประเทศต่างๆ ได้ใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุนสินค้าเหล็กไปแล้วถึง 48 มาตรการ

นายวิกรม วัชระคุปต์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้แสดงความเห็นต่อมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด ว่าเป็นกลไกตามกติกาขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) และเป็นเครื่องมือที่นานาประเทศต่างก็ใช้กันเพื่อให้การค้าระหว่างประเทศเป็นธรรม เพราะหากปล่อยปละละเลยไม่ใช้มาตรการดังกล่าว ก็เท่ากับส่งเสริมให้ผู้ที่ทำการค้าไม่เป็นธรรมทั้งประเทศผู้ผลิตสินค้าทุ่มตลาดและผู้นำเข้าที่ต้องการต้นทุนต่ำกว่ากลไกตลาด ได้เปรียบอุตสาหกรรมภายในประเทศ และทำลายระบบเศรษฐกิจของประเทศที่ถูกทุ่มตลาด

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ใช้มาตรการตอบโต้สินค้าเหล็กทุ่มตลาดมากที่สุดในโลก รวม 65 มาตรการ และกำหนดอัตราอากรตอบโต้การทุ่มตลาดที่สูงมาก เช่น เหล็กแผ่นรีดเย็นจากจีน ที่อัตรา 265.79% เป็นต้น โดยอเมริกามีนโยบายใช้มาตรการทางการค้าต่างๆ อย่างรวดเร็วและแข็งกร้าว ซึ่งสกัดกั้นเหล็กทุ่มตลาดอย่างได้ผล และช่วยรักษาการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กภายในอเมริกาให้ฟื้นกลับมาที่ระดับ 70%-80%

สหภาพยุโรป กำลังพิจารณามาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด และตอบโต้การอุดหนุนสินค้าเหล็ก เพิ่มมากถึง 37 มาตรการ โดยเป็นมาตรการต่อสินค้าเหล็กจากจีน 15 มาตรการ ซึ่งแม้จะมีเสียงคัดค้านจากผู้ใช้เหล็กที่ต้องการนำเข้าเหล็กราคาต่ำ แต่คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปแถลงอย่างชัดเจนว่า จำเป็นต้องใช้มาตรการเหล่านี้ซึ่งเป็นไปตามกรอบของกฏหมายที่เข้มงวด เพื่อประโยชน์ของสหภาพยุโรปส่วนรวม ในการแก้ปัญหาสถานการณ์การค้าเหล็กทุ่มตลาดที่ไม่เป็นธรรม และให้อุตสาหกรรมเหล็กของยุโรปสามารถแข่งขันได้ในสภาพการผลิตเหล็กที่ล้นเกินความต้องการของโลก

ประเทศอื่นๆ ที่ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็ก ก็มีอีกมากมาย เช่น ออสเตรเลีย 38 มาตรการ, อินเดีย 30 มาตรการ,อินโดนีเซีย 27 มาตรการ เป็นต้น

แม้กระทั่งญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงระดับต้นของโลกในการผลิตเหล็ก ก็ต้องหันมาพิจารณาใช้มาตรการตอบโต้สินค้าเหล็กทุ่มตลาดจากประเทศจีน และเกาหลีใต้ ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน

ในปี 2559 นี้ มีการไต่สวนและใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็กทั่วโลกเพิ่มเติมอีก 61 มาตรการ โดยรวมกรณีของประเทศไทยด้วย 5 มาตรการ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ และกรมการค้าต่างประเทศ ได้ให้ความสำคัญและดำเนินการอย่างรอบคอบและเป็นธรรม

นอกจากมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดแล้ว ประเทศต่างๆ ในเอเซียซึ่งอยู่ใกล้จีนที่เป็นผู้ทุ่มตลาดสินค้าเหล็กมากสุดในโลก ยังได้ใช้มาตรการอื่นเพิ่มเติมด้วย เช่น มาตรการจำกัดปริมาณนำเข้าสินค้าเหล็ก (Quantitative Restriction: QR) จำนวน 44 มาตรการและ มาตรการตอบโต้การนำเข้าสินค้าเหล็กที่เพิ่มขึ้น (Safeguard : SG) 10 มาตรการ เป็นต้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๕ พ.ย. ดิ เอราวัณ กรุ๊ป เปิดตัว HOP NextGen ชวนนักศึกษาเยี่ยมชม ฮ็อป อินน์ เรียนรู้เทคนิคบริการแบบ Consistency is Yours พร้อมพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่
๑๕ พ.ย. คิง เพาเวอร์ ต้อนรับเทศกาลแห่งความสุขส่งท้ายปี เปิดแคมเปญ THE POWER OF FUNTASTIC CELEBRATION 2025 ฉลองทุกความสุข สนุกไม่รู้จบ
๑๕ พ.ย. พันธุ์ไทย ชวนแฟนด้อม คัลแลนและพี่จอง จุ่ม การ์ดพันธุ์ไทยใจฟู ลิมิเต็ด อิดิชั่น
๑๕ พ.ย. BAM ทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ DIGITAL ENTERPRISE ตอกย้ำผู้นำ AMC ยุค 4.0 วางเป้าหมายยกระดับองค์กรสร้างโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืน เตรียมส่ง อิสระ เดอะซีรีส์ ชวนลูกหนี้ BAM
๑๕ พ.ย. บางจากฯ ได้รับการประเมินด้านความยั่งยืนอันดับสูงสุดของโลก จาก SP Global 2024 ในกลุ่มอุตสาหกรรม Oil Gas Refinery and
๑๔ พ.ย. ซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล ออกบูธให้ความรู้เรื่องการใช้งานระบบดับเพลิงนร. พระหฤทัยนนทบุรี
๑๒ พ.ย. พนักงานซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล รับรางวัลเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานดีเด่น
๑๕ พ.ย. PROSPECT REIT ชูไตรมาส 3/67 โตเกินเป้า อัตราการเช่าพุ่งนิวไฮ หนุนจ่ายปันผลเด่น 0.2160 บาท
๑๕ พ.ย. CHAO ประกาศงบ Q3/67 กำไรพุ่งกว่า 62% รับตลาดส่งออกพีค จีนโตเด่น แย้ม Q4 เดินหน้าบุกตลาดในประเทศ สินค้าใหม่หนุนยอดขายปลายปี
๑๕ พ.ย. ฉลองเทศกาลลอยกระทงประจำปี 2567 ณ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ