นายสุจิ คอประเสริฐศักดิ์ นายกสมาคมช่างเหมาไฟฟ้าและเครื่องกลไทย เปิดเผยว่า สมาคมช่างเหมาฯได้ร่วมกับ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดตัวศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถผู้ประกอบอาชีพช่างไฟฟ้า ขึ้น ที่ชั้น 7 อาคาร LPN ถนนนางลิ้นจี่ นับเป็นศูนย์ประเมินความรู้ฯของภาคเอกชนแห่งแรกในไทย เพื่อทำหน้าที่ในการประเมินความรู้ ความสามารถ ผู้ประกอบอาชีพช่างไฟฟ้าที่เป็นบุคคลทั่วไปในวิชาชีพช่างไฟฟ้า ให้มีมาตรฐานตามมาตรา 26/4(2) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2557 ในสาขาอาชีพ ช่างไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ ซึ่งผู้ปฏิบัติงานด้านช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ต้องมีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ โดยจะต้องสอบผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติสาขาอาชีพช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ระดับ1 และ ผ่านการประเมินความรู้ความสามารถในสาชาอาชีพช่างไฟฟ้า จึงจะได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถและสามารถประกอบวิชาชีพได้ตามกฎหมายที่ระบุไว้ เพื่อเป็นการพัฒนา และยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานของผู้ประกอบอาชีพช่างไฟฟ้าในประเทศไทยให้มีมาตรฐาน
สมาคมช่างเหมาฯ และกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้จัดพิธีเปิดศูนย์ประเมินความรู้ ของสมาคมช่างเหมาฯ แห่งอย่างเป็นทางการ ที่สมาคมช่างเหมาฯ อาตารแอลพีเอ็น ถนนนางลิ้นจี่ กรุงเทพ ในวันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2559 โดยได้เริ่มปฎิบัติงานด้านการประเมินฯ ในเดือนสิงหาคม 2559 ปัจจุบันมีผู้ผ่านการประเมินจากศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถของสมาคม แล้วมากกว่า 652 คน
สมาคมช่างเหมาไฟฟ้าและเครื่องกลไทย ในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการด้านติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน โดยได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานและในกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลานานกว่า 10 ปี และ จัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน จำนวน 8 ศูนย์ ซึ่งแรงงานที่สอบผ่านการทดสอบจากศูนย์ทดสอบมาตรฐานฯ จะถูกส่งเข้ามาประเมินความสามารถ เพื่อรับใบรับรองความรู้ความสามารถผู้ประกอบอาชีพช่างไฟฟ้า จากศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถของสมาคมช่างเหมาฯ
ทั้งนี้ในกลุ่มสมาชิกของสมาคมฯ ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มผู้ประกอบการ ต่างๆ เช่น ผู้รับเหมาไฟฟ้า, ผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า สุขาภิบาล ประปา เครื่องปรับอากาศและการสื่อสาร การจัดตั้งศูนย์ในส่วนของสมาคมเองจะเป็นการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพไฟฟ้าให้เป็นมาตรฐานสากล รวมทั้งการส่งเสริมความรู้ความสามารถของกลุ่มสมาชิก ให้มีมาตรฐานมากขึ้นนอกเหนือจากที่พรบ. กำหนด โดยพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝี มือแรงงาน (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2557 ได้มีผลบังคับใช้ใน วันที่ 26 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป
"ปัจจุบันสมาคมช่างเหมาไฟฟ้าและเครื่องกลไทย มีสมาชิกเครือข่ายที่เป็นบริษัทนิติบุคคลกว่า 570บริษัท ซึ่งแรงงานช่างไฟฟ้าของไทยในขณะนี้เทียบเท่ากับประเทศเพื่อนบ้านฝีมือแรงงานของไทยอยู่ในอันดัน 1 มีเพียงสิงคโปร์และมาเลเซียที่ใกล้เคียงกับเรา แต่แรงงานอาชีพช่างไฟยังมีน้อยกว่าไทยมาก ดังนั้นสมาคมช่างเหมาไฟฟ้าฯ จึงให้ความสำคัญกับกับศูนย์ประเมินความสามารถแรงงานด้านอาชีพช่างไฟฟ้าอาชีพ โดยในอนาคตคาดว่าจะสามารถรับการประเมินฝีมือแรงงานได้มากกว่า 1หมื่นคนต่อปี" นายสุจิกล่าว
ด้านนางอัจฉรา แก้วกำชัยเจริญ รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 กำหนดให้การประกอบอาชีพในสาขาอาชีพ ตำแหน่งงาน หรือลักษณะ งานใดที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะหรือต้องดำเนินการโดยผู้มีความรู้ความสามารถที่ได้รับการรับรองความรู้ความสามารถ โดยมีระบบการประเมินเพื่อรับรองความรู้ความสามารถ และให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจควบคุมการดำเนินการของศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถกำหนดให้ค่าธรรมเนียมที่ได้รับจากการรับรองความรู้ความสามารถ ตกเป็นของกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการรับรองความรู้ความสามารถ อีกทั้งกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบกิจการเข้าร่วมในกระบวนการพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมทั้งปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
"การเปิดศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ ดังกล่าว จะช่วยยกระดับฝีมือแรงงานไทย แม้ว่ากรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะมีศูนย์ประเมินภาครัฐอยู่ทั้ง 77 จังหวัดแล้วก็ตามแต่คงไม่เพียงพอในการพัฒนาศักยภาพของแรงงานในสายอาชีพนี้ ทางกรมฯจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนคือสมาคมช่างเหมาไฟฟ้าและเครื่องกลไทย โดบบุคลากรที่จะให้สมาคมช่างเหมาไฟฟ้าประเมินจะมีทั้งเด็ก ปวช. ปวส คนรุ่นเก่าที่มีอายุ 50 ปี เด็กมัธยม หรือคนที่มีอายุมากประสบการณ์การทำงานมากแต่มีข้อจำกัดเรื่องวูฒิการศึกษา ศูนย์ประเมินฯจะ มีหน้าที่ในการการปรับการประเมิน และปรับค่าแรงตามความรู้ความสามารถ ซึ่งการประเมินจะต้องมีการสัมภาษณ์ประสบการณ์ในการทำงานประกอบด้วย เพราะอาชีพช่างไฟฟ้าจะมีช่างไฟฟ้าอิสระที่ไม่ได้ขึ้นกับบริษัท หรือหน่วยงานต่างๆอีกด้วย
ดังนั้นกระทรวงแรงงานต้องเข้ามาดูแล โดยให้พันธมิตรหรือ องค์กรคือสมาคมช่างเหมาไฟฟ้าเป็นผู้ช่วยประเมินอาชีพ เพราะสมาคมช่างเหมาไฟฟ้ามีสมาชิกเครือข่าย และกลุ่มรายย่อยเป็นจำนวนมาก ผลที่ได้รับจากการประเมินก็จะทำให้แรงงานด้านไฟฟ้ามีความรู้ความสามารถและป้อนเข้าสู่ตลาด ต่อยอดธุรกิจเอสเอ็มอี และมีส่วนผลักดันให้เศรษฐกิจดีขึ้นนอกจากแรงงานจะมีส่วนช่วยธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งทางรัฐบาลให้นโยบายสำคัญในเรื่องนี้ แล้วยังช่วยให้แรงงานมีทักษะทางด้านภาษาซึ่งจะช่วยให้การเข้าสู่กระบวนการของเอสเอ็มอีได้ดียิ่งขึ้น"รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวในที่สุด