นายอุกฤษฏ์ ตัณฑเสถียร กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรีโม่ เอ็นเนอร์จี จำกัด เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) ในประเทศญี่ปุ่นขนาดกำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ มูลค่า 3,000ล้านบาท ว่า ขณะนี้โครงการที่พัฒนาในกลุ่ม FUKUI ขนาดกำลังการผลิตรวม 10 เมกะวัตต์ สามารถเชื่อมต่อสายส่งจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) แล้วจำนวน 1.27 เมกะวัตต์ ภายใต้ชื่อโครงการFUKUI 3 ส่วนโครงการที่เหลือ อยู่ระหว่างการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและทยอย COD ในลำดับต่อไป
สำหรับโครงการ FUKUI 3 มีสัญญาขายไฟให้กับรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นเวลา 20 ปี ในระบบให้เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (Feed in Tariff : FiT) ซึ่งบริษัทจะรับรู้รายได้ทันทีในปีนี้ โดยที่ผ่านมาการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นของพรีโม่ เอ็นเนอร์จี ได้ว่าจ้าง บริษัท พรีเมียร์ โซลูชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ CHOW เป็นผู้พัฒนาโครงการแบบเทิร์นคีย์ ในลักษณะการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพร้อมใบอนุญาตและจัดโครงสร้างการลงทุนพร้อมเป็นที่ปรึกษาให้กับเจ้าของโครงการ
สำหรับ พรีโม่ เอ็นเนอร์จี ถือเป็นบริษัทสัญชาติไทยลำดับต้นๆ ที่ได้เข้าไปทำธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น โดยประเมินว่าตลาดด้านพลังงานทดแทนในญี่ปุ่นมีศักยภาพการเติบโตสูง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนด้วยการเปิดกว้างสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งยังรับซื้อไฟในระบบ Feed in Tariff จึงทำให้ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และถือเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตได้อีกมากในอนาคต
"พรีโม่ เอ็นเนอร์จีฯ เริ่มขายไฟฟ้าให้กับรัฐบาลญี่ปุ่นแล้ว 1.27 เมกะวัตต์ และจะทยอยพัฒนาให้ครบ 30เมกะวัตต์ ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยเราเป็นในบริษัทสัญชาติไทยอันดับ 3 ที่สามารถขายไฟให้รัฐบาลญี่ปุ่นได้เป็นผลสำเร็จแม้ว่าจะเป็นบริษัทขนาดเล็กเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่นจากประเทศไทย แต่เนื่องจากเรามีพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญและแข็งแกร่งในตลาดนี้จึงสามารถคว้าโอกาสทางธุรกิจไว้ได้ และหลังจากนี้จะมุ่งขยายธุรกิจพลังงานประเภทโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำ มีคู่สัญญาเป็นรัฐบาลญี่ปุ่น ในขณะเดียวกันให้ผลตอบแทนเป็นกระแสเงินสดอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอตลอดอายุสัมปทาน"
นายอุกฤษฏ์ กล่าวต่อว่า การลงทุนในญี่ปุ่นของบริษัท จะเน้นทยอยลงทุน ถือเป็นการป้องกันความเสี่ยงในระดับหนึ่ง และการลงทุนดังกล่าวจะใช้วิธีการกู้เงินจากสถานบันการเงินในสัดส่วน 80% ของมูลค่าเงินลงทุนทั้งหมด อย่างไรก็ตาม สำหรับปัญหาด้านภัยธรรมชาติในญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในหลายพื้นที่ บริษัทได้ป้องกันความเสี่ยงด้วยการ ได้ทำประกันความเสี่ยงไว้ทั้งหมด