นางวรวรรณ งานทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด(มหาชน) หรือ ASIMAR กล่าวถึงแนวโน้มผลประกอบการในช่วงไตรมาส 4/59 คาดว่าจะมีทิศทางที่ดี เนื่องจากมีการรับรู้รายได้ จากมูลค่างานคงค้างในมือ (Backlog) ที่มีมากกว่า 400 ล้านบาท ซึ่งทยอยรับรู้มาตั้งแต่ไตรมาส 3/59 ที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งงานของภาครัฐและเอกชน โดยก่อนหน้านี้บริษัทได้เข้าประมูลงานของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) มูลค่าไม่เกิน 1,000 ล้านบาท รวมถึงงานวิศวกรรมอื่น ๆ และเริ่มมีการรับรู้รายได้จากอู่ต่อเรือที่ จ.สุราษฎร์ธานี หลังจากที่ Q3/59 ที่ผ่านมา ได้ปรับปรุงอู่ซ่อมเรือ โดยขณะนี้เฟส 1 สามารถใช้งานได้แล้ว
"ยอมรับว่าผลงานปีนี้ของ ASIMAR อาจจะเติบโตไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ แต่เราหวังว่าในระยะ 1-2 ปีจากนี้ ASIMAR จะกลับมาเทิร์นอะราวน์อย่างค่อยเป็นค่อยไป ปัจจัยหลัก ๆ มาจากอู่ต่อเรือแห่งใหม่ใน จ.สุราษฎร์ธานี ที่เริ่มเปิดดำเนินการในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และล่าสุดขณะนี้คืบหน้าแล้วกว่า 90% โดยจะเปิดอย่างเป็นทางการในเดือน ม.ค.ปี 2560 ตามกำหนดการที่วางไว้ จะช่วยสนับสนุนการรับงานต่อเรือ ซ่อมเรือ ได้เพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ทางภาคใต้ ซึ่งอุตสาหกรรมต่อเรือปีนี้ เริ่มฟื้นตัวแต่ไม่หวือหวามองว่าจะฟื้นตัวจริง ๆ ในอีก 2 ปีข้างหน้า" นางวรวรรณ กล่าว
ทั้งนี้ โครงสร้างรายได้ของ ASIMAR ในปี 2559 นี้ ประกอบด้วย 1.รายได้ซ่อมเรือ ประมาณ 55% ปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดไม่ต่ำกว่า 30% 2.รายได้จากการต่อเรือ ประมาณ 43% ล่าสุดมีส่วนแบ่งการตลาดเฉลี่ย 20-30% 3.รายได้งานโครงสร้างเหล็ก ปัจจุบันอยู่ระหว่างประมูลงานโครงสร้างเหล็ก มูลค่า 300-400 ล้านบาท สำหรับจุดเด่นสำคัญของ ASIMAR คือ สามารถต่อเรือได้ยาวถึง 160 เมตร และมีขีดความสามารถในการรับเรือเฉลี่ย 80-100 ลำต่อปี นอกจากนั้นยังมีความเชี่ยวชาญในการกิจการขนส่งทางเรือ มากกว่า 50 ปี
สำหรับผลประกอบการของบริษัทฯ และบริษัทย่อยในงวดไตรมาส 3/2559 มีกำไรสุทธิ 16.88 ล้านบาท ลดลง 29.57 ล้านบาท หรือลดลง 63.66% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 46.45 ล้านบาท โดยมีรายได้รวม 132.02 ล้านบาท ลดลง 85.24 ล้านบาท หรือลดลง 39.23% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 217.26 ล้านบาท ทั้งนี้ผลการดำเนินงานใน Q3/59 ที่ผ่านมา รายได้จากการรับจ้างลดลง 87.42 ล้านบาท หรือคิดเป็น 40.65% เนื่องจากรายได้จากงานซ่อมเรือลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 25.82% สาหตุหลักจากรายได้กลุ่มลูกค้าเรือ Offshore ที่ลดลง และลูกค้าควบคุมงบประมาณการซ่อมเรือจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ และมีการแข่งขันสูงขึ้นระหว่างอู่เรือ โดยรายได้จากงานต่อเรือลดลง 63.91% เนื่องจากใน Q3/58 มีการรับรู้รายได้สะสม 100% จากการส่งมอบงานโครงการ 2 ลำ คือ เรือวางทุ่น ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย และเรือลากจูง ของ Port Authority of Sihanoukville ขณะที่ Q3/59 มีงานโครงการต่อเรือที่รับรู้รายได้จากอัตราส่วนของงานที่ทำสำเร็จทั้ง 4 โครงการ คือ โครงการเรือลากจูงกำลังฉุดไม่น้อยกว่า 50 เมตริกตัน ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งมีการรับรู้รายได้สะสม 5.56% โครงการต่อเรือลำเลียงขนาด 2,500 เดทเวทตัน จำนวน 2 ลำ ของบริษัท วีรวรรณ จำกัด ซึ่งมีการรับรู้รายได้สะสม 22.65% ส่วนเรือกำจัดผักตบชวาและวัชพืช (นครปฐม) และเรือกำจัดผักตบชวาและวัชพืช (ฉะเชิงเทรา) ซึ่งรับรู้รายได้สะสมของโครงการ 100% ซึ่งทั้ง 2 โครงการได้ส่งมอบเรือเรียบร้อยแล้ว โดยโครงการเรือกำจัดผักตบชวาเป็นงานจากบริษัท อีโค มารีน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย
ส่วนผลประกอบการงวด 9 เดือนแรกปีนี้ ของบริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 29.12 ล้านบาท ลดลงราว 72.91 ล้านบาท หรือลดลง 71.46% เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 102.03 ล้านบาท มีรายได้รวม 370.95 ล้านบาท ลดลง 302.64 ล้านบาท หรือลดลงราว 44.93% เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 673.59 ล้านบาท ผลประกอบการที่ลดลง เนื่องจากในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ไม่มีงานต่อเรือเข้ามา ทำให้รายได้เติบโตไม่หวือหวา แต่มีออเดอร์จากการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งจะทยอยรับรู้ได้เข้ามาในช่วงไตรมาส 3-4 ของปีนี้