ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
อัตราส่วนหนี้สินจะสูงเกินกว่าระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจุบันชั่วคราว : ฟิทช์ เรทติ้งส์ คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของ BAFS ที่วัดจากหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน (FFO –adjusted net leverage) จะเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบันกล่าวคือระดับ 2 เท่าชั่วคราว เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่จะมีการใช้จ่ายลงทุนในจำนวนที่สูงในการขยายท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือของประเทศไทย ซี่งใช้เงินลงทุนประมาณ 7.5 พันล้านบาท โดยจะมีแหล่งเงินทุนมาจากการกู้ยืมประมาณร้อยละ 85 อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่า อัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวของ BAFS จะลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 2 เท่าหลังจากเสร็จสิ้นการลงทุนและได้รับรายได้จากการดำเนินงานเต็มปีของส่วนต่อขยายของท่อขนส่งน้ำมันตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป
สถานะความเป็นผู้นำ: อันดับเครดิตของ BAFS สะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำในการให้บริการน้ำมันอากาศยานในประเทศไทย โดย BAFS เป็นผู้ให้บริการคลังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน (Depot Service) และเครือข่ายท่อจ่ายน้ำมันอากาศยาน (Hydrant Pipeline Network) แต่เพียงรายเดียว ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นท่าอากาศยานนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นผู้ให้บริการหลักในส่วนของบริการเติมน้ำมันอากาศยาน (Into-Plane Fuelling Service) ณ ท่าอากาศยานดังกล่าว โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานประมาณร้อยละ 86-87 BAFS อยู่ในธุรกิจที่มีสภาพการแข่งขันที่ต่ำและได้รับประโยชน์จากอุปสรรคในการเข้าสู่ธุรกิจที่สูงของผู้บริการรายใหม่ เนื่องจากผู้ให้บริการต้องได้รับการอนุญาตจากท่าอากาศยานนั้นๆ จึงจะให้บริการได้
การเติบโตของความต้องการเติมน้ำมันที่ต่อเนื่อง: ฟิทช์คาดว่าปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานของ BAFS จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5-7.0 ในปี 2559 แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนจะลดลงในไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 ซึ่งเป็นผลจากนโยบายของรัฐบาลในการปราบปรามเครือข่ายของทัวร์ศูนย์เหรียญจากประเทศจีนตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่าไม่น่าจะมีการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนอย่างมีนัยสำคัญต่อเนื่องถึงปีหน้า นอกจากนี้ รายได้ของ BAFS ขึ้นอยู่กับจำนวนเที่ยวบิน ไม่ใช่จำนวนผู้โดยสาร ซึ่งส่งผลให้ BAFS ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงและทันทีจากการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทย ฟิทช์คาดว่าปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานของ BAFS จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4-5 ต่อปีในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคและทั่วโลก การเติบโตอย่างต่อเนื่องของการท่องเที่ยวในประเทศไทย รวมถึงโครงการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง
ความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาน้ำมันที่จำกัด: BAFS ไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมัน เนื่องจาก BAFS จะเรียกเก็บเฉพาะค่าบริการเติมน้ำมันจากบริษัทน้ำมันเท่านั้น (โดยบริษัทน้ำมันเป็นผู้ขายน้ำมันให้แก่สายการบิน) นอกจากนี้ ต้นทุนหลักของ BAFS เป็นค่าสัมปทานซึ่งเป็นอัตราที่ตกลงกันก่อนตามสัญญา ทำให้อัตราส่วนความสามารถในการทำกำไรของ BAFS ค่อนข้างคงที่
สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
- ปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานมีการเติบโตในอัตราร้อยละ 6.5-7.0 ในปี 2559 และร้อยละ 4.0-4.5 ต่อปีในปี 2560-2561
- อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและ ค่าเช่าต่อรายได้ (EBITDAR Margin) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 58 ในปี 2559-2561
- ค่าใช้จ่ายลงทุนจำนวน 1.8-2.0 พันล้านในปี 2559 และ 3.0-3.5 พันล้านต่อปีในช่วงปี 2560-2561 ซึ่งได้รวมเงินลงทุนในโครงการขยายท่อขนส่งน้ำมันแล้ว
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้ามีความเป็นไปได้น้อย เนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินที่น่าจะเพิ่มสูงขึ้น
ปัจจัยลบ:
การเริ่มเปิดดำเนินการที่ล่าช้ากว่าที่คาดของโครงการส่วนต่อขยายของท่อขนส่งน้ำมัน หรือต้นทุนค่าก่อสร้างที่สูงกว่าที่คาด รวมถึงการจ่ายเงินปันผลในอัตราที่สูง ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินที่วัดจากหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน อยู่ในระดับที่สูงกว่า 2.0 เท่าอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินของ BAFS ที่อาจสูงเกินกว่าระดับดังกล่าวชั่วคราวในช่วงที่มีการใช้จ่ายลงทุนที่สูงในโครงการขยายท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือของประเทศไทยไม่น่าจะทำให้มีการปรับอันดับเครดิตในทางลบ