นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี (สคร.10) กล่าวว่า ขณะนี้กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาว หลายจังหวัดของภาคอีสานอากาศเริ่มหนาวเย็น โรคที่ควรเฝ้าระวังในช่วงนี้คือ โรคมือ เท้า ปาก ซึ่งมักมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในภาวะอากาศเย็นและชื้น และมักเกิดในสถานที่ที่มีเด็กจำนวนมากมาอยู่รวมกัน จึงขอแนะนำให้ผู้ปกครอง ผู้เลี้ยงดูเด็กในศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล และสถานรับเลี้ยงเด็ก ได้ตระหนักและระมัดระวังโรคมือ เท้า ปาก ซึ่งเกิดการแพร่กระจายเชื้อโรคสู่กันได้ง่ายกรมควบคุมโรคขอความร่วมมือศูนย์เด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็ก และโรงเรียนอนุบาล ตรวจคัดกรองเด็กเป็นประจำทุกวันในตอนเช้า
นพ.ศรายุธ กล่าวต่อไปว่า โรคมือ เท้า ปาก จะเกิดบ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เนื่องจากเด็กมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำ การติดต่อของโรคจะติดต่อจากการได้รับเชื้อทางปากโดยตรง ซึ่งเชื้อไวรัสจะติดมากับมือ หรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จาม รดกัน โดยหลังจากได้รับเชื้อ 3 - 6 วัน ผู้ติดเชื้อจะเริ่มแสดงอาการป่วย อาการที่พบบ่อยได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดเมื่อย เป็นต้น หรือมีอาการไข้ร่วมกับตุ่มพองเล็กๆ เกิดขึ้นที่ผิวหนังบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และในปาก โดยตุ่มแผลในปากนั้น บริเวณรอบ ๆ จะอักเสบและแดงต่อมาตุ่มจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้น ๆ เป็นสาเหตุให้เด็กไม่ดูดนม ไม่กินอาหารเพราะเจ็บปาก โดยทั่วไปอาการจะดีขึ้นและสามารถหายเป็นปกติได้ภายใน 7-10 วัน แต่หากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ต้องรีบนำเด็กกลับไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที
ส่วนสถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ในประเทศไทยตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วย โรคมือ เท้า ปาก แล้ว 71,610 คน เสียชีวิตด้วยโรคนี้ไปแล้ว 3 ราย ส่วนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ 5 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และมุกดาหาร พบผู้ป่วยแล้ว 4,359 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ จ. อุบลราชธานี 2,060 ราย ลองลงมาคือ จ. ศรีสะเกษ 1,175 ราย ตามลำดับ
สำหรับการป้องกัน โรคมือเท้าปาก ผู้ปกครอง ผู้เลี้ยงดูเด็กในศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล และสถานรับเลี้ยงเด็ก ควรมีการตรวจคัดกรองเด็กเป็นประจำทุกวันในตอนเช้า โดยแยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติและแจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน หลีก เลี่ยงไม่ให้เด็กป่วยเล่นคลุกคลีกับเด็กปกติและเมื่อป่วยควรพักรักษาอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหาย รวมถึงให้เด็กล้างมือบ่อยๆ หรือทุกครั้งที่สัมผัสสิ่งสกปรกปนเปื้อนเชื้อโรค หมั่นทำความสะอาดอุปกรณ์ เครื่องมือ ของใช้ ของเล่น เป็นประจำทุกสัปดาห์ ที่สำคัญหากพบเด็กป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านทันที
ทั้งนี้โรคมือ เท้า ปาก ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ ผู้ป่วยควรนอนพักผ่อนให้มากๆ ผู้ดูแลควรเช็ดตัวให้เด็กเพื่อลดไข้เป็นระยะ ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหาร อ่อนๆ หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 /นพ.ศรายุธ กล่าวปิดท้าย