นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง การยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กระบวนการผลิตยางแท่งในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์ ต้องใช้ยางก้อนที่มีคุณภาพดีเท่านั้น หากมียางตายหรือวัสดุแปลกปลอมเจือปน เมื่อนำไปผลิตแล้ว จะส่งผลให้ยางไม่เป็นเนื้อเดียวกัน และทำให้ยางเสื่อมคุณภาพเร็ว ซึ่งในอุตสาหกรรมการผลิตยางชั้นนำ จะมีกระบวนการตรวจสอบที่ค่อนข้างละเอียด เกษตรกรบางพื้นที่อาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือไม่มีความเข้าใจในกระบวนการผลิตทั้งระบบ ซึ่งอาจส่งผลให้ผลิตวัตถุดิบที่ไม่มีคุณภาพและจำหน่ายสู่ตลาด ดังนั้น หากเกษตรกรต้องการขายผลผลิตให้ได้ราคาดี จะต้องรักษาคุณภาพของยางด้วย โดย กยท. จะเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อให้เกษตรกรตระหนักถึงการผลิตยางก้อนขนาดใหญ่ และยางก้อนถ้วยที่ดี และมีคุณภาพ โดยการยางแห่งประเทศไทยในทุกๆ เขต จังหวัด และสาขา จะให้ความรู้ ความเข้าใจแก่เกษตรกรในพื้นที่โดยตรง
นอกจากนี้ ได้นำเรื่องดังกล่าว เสนอต่อกรมวิชาการเกษตร เพื่อพิจารณาใช้กฎหมายเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพิ่มเติม โดยให้มีการกำหนดวิธีการทำสวนยาง (วิธีผลิตยางก้อนถ้วย) อาศัยอำนาจตามมาตรา 6 (6) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542 ซึ่งอยู่ในขั้นตอนหารือพิจารณาในการออกเป็นข้อกฎหมายได้หรือไม่ต่อไป เพื่อควบคุมคุณภาพในการผลิตยางตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง