โครงการประกวดผลงาน “นวัตกรรมเพื่อเทคโนโลยีป้องกันประเทศ” ครั้งแรกของไทย

จันทร์ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๐๑๖ ๑๔:๔๔
ด้วยนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวพระราชดำริโดยเน้นหลักการพึ่งตนเองของรัฐบาลที่หันมามุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมในประเทศมากขึ้น สมาคมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (Defence Technology Association: DEFTA) และสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (Artificial Intelligence Association of Thailand: AIAT) เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อเทคโนโลยีป้องกันประเทศ โดยอาศัยความคิดสร้างสรรค์จากภาคสถาบันการศึกษาเพื่อการพึ่งตนเอง ลดการพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศในอนาคต ได้ริเริ่มให้มีการจัดโครงการประกวดผลงานนวัตกรรมเพื่อเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ประจำปี 2559 ขึ้น หรือ Innovation for Deference Technology Contest 2016: IDT Contest-2016 ชิงโล่รางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเกียรติบัตรและเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 100,000 บาท โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศ และศูนย์วิจัยแห่งชาติ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี,มหาวิทยาลัยรังสิต, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) โดยในปีแรกมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.) เป็นเจ้าภาพจัดงาน ซึ่งได้มีการประกาศผลการประกวดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ

พล.อ.อ.พงศธร บัวทรัพย์ นายกสมาคมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กล่าวว่า การจัดโครงการดังกล่าวถือเป็นการเริ่มต้นความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษากับภาคความมั่นคง ทางสมาคมเทคโนโลยีป้องกันประเทศถือเป็นบทบาทหนึ่งของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศที่มีภารกิจเกี่ยวกับการวิจัยด้านความมั่นคง และเห็นว่างานวิจัยไม่เจาะจงต้องดำเนินการในสถาบันใดเพียงแห่งเดียว เชื่อว่าการประกวดผลงานครั้งนี้จะกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจแก่เยาวชน นักศึกษา ให้สร้างสรรค์ผลงานหรือแนวคิดพัฒนาสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมต้นแบบที่จะนำมาใช้งานทางด้านการป้องกันประเทศได้จริง โดยทางสมาคมฯ จะนำแนวความคิดหรือผลงานของนักศึกษาที่ได้รับรางวัลนำไปต่อยอดร่วมกับงานวิจัยที่ทางสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศกำลังพัฒนาอยู่ ซึ่งจะก่อให้เกิดนวัตกรรมป้องกันประเทศตามที่หน่วยงานต้องการมาใช้ในภารกิจด้านความมั่นคงของประเทศต่อไปในอนาคต

ดร.ทวีศักดิ์ ยิ่งถาวรสุข ประธานหลักสูตรเทคโนโลยีมีเดีย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในฐานะประธานจัดการประกวดฯ กล่าวว่า โครงการประกวดผลงานนวัตกรรมฯ เป็นการนำความรู้การจัดการความรู้และความคิดสร้างสรรค์นำมาพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบในการสนับสนุนการป้องกันประเทศในด้านต่าง ๆ ดังนั้นเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชน นักศึกษาได้แสดงออกอย่างสร้างสรรค์และมีส่วนร่วมในการเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับเทคโนโลยีป้องกันประเทศ จึงจัดให้มีการประกวดผลงานนวัตกรรมเพื่อเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ประจำปี 2559 ขึ้น

เป็นครั้งแรก และจะจัดให้มีการประกวดขึ้นทุกปี เพื่อส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมทางความคิดและสร้างนวัตกรรมในการสนับสนุนเทคโนโลยีป้องกันประเทศ

ในปีนี้มีผู้นำผลงานเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 58 ผลงาน แบ่งเป็น ประเภทบรรยาย (Oral Presentation) จำนวน 21 ผลงาน และโปสเตอร์ (Poster Presentation) จำนวน 37 ผลงาน ผลการประกวดในประเภทบรรยาย (Oral Presentation) ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ระบบสอดส่องแนวโน้มการก่อความวุ่นวายจากการเผยแพร่ข่าวสารบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ ผลงานของนายจิระวิน บูรณะพาณิชย์กิจ และนายณัฐวุฒิ สำเร็จ นักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยเจ้าของผลงานกล่าวว่า ปัจจุบันมีการใช้สื่อโซเซียลมีเดียสร้างข่าว ซึ่งไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง ก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคม อาจส่งผลให้เกิดเหตุความวุ่นวาย จึงคิดพัฒนาเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในการแก้ไขก่อนเกิดปัญหา เพราะเชื่อว่าหากสามารถรู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดเหตุขึ้นก็จะสามารถเตรียมการรับมือเหตุการณ์นั้นได้ ปัญหาความรุนแรงก็อาจจะไม่เกิดขึ้น

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ UAV ขึ้น-ลงแนวดิ่ง เพื่อการสำรวจทางอากาศสำหรับหน่วยลาดตระเวนภาคพื้น ผลงานของนายนายอฎิชัย วิจารณ์ และนายอิศราทิตย์ บุญเหลือ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งผลงานชิ้นนี้ได้รับความสนใจจากทางสมาคมเทคโนโลยีป้องกันประเทศและพร้อมสนับสนุนในการพัฒนาต่อยอดเพื่อนำไปสู่การใช้งานจริงด้านความมั่นคงของประเทศต่อไป และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ ผลงานระบบลาดตระเวนอัจฉริยะเพื่อตรวจสอบวัตถุระเบิดใต้พื้นดิน ผลงานของนายศุภกฤษฎ์ กู้เจริญประสิทธิ์, นางสาว ปราณรงค์ มหาคุณ และนายณัฏฐวีร์ ผาสุก จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผลการประกวดประเภทโปสเตอร์ (Poster Presentation) รางวัลชนะเลิศ และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้แก่ ผลงานระบบตรวจจับอาวุธมีดและปืนโดยใช้การประมวลภาพแบบ Deep Learning Image Processing for Weapon Detection และผลงานระบบตรวจจับคนร้ายอำพราง Detecting Criminals Systemตามลำดับ รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ผลงาน Drone ลาดตระเวนค้นหาวัตถุใต้พื้นและสิ่งกีดขวาง โดย Wireless X-ray Patrolling Drone จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ภายในงานยังได้มีการบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ "เทคโนโลยีป้องกันประเทศ"จากผู้เชี่ยวชาญทั้งภาคมหาวิทยาลัยและผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ หวังกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในการพัฒนาฐานความรู้นวัตกรรมสนับสนุนเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เพื่อการพึ่งตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ