โบนัสมีความแตกต่างกันมากขึ้น ตั้งแต่ 1.8 เดือน จนถึง 3 เดือน
แนวโน้มการเข้า-ออกของพนักงานลดลง
วิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน (NASDAQ: WLTW) บริษัทที่ปรึกษา โบรกเกอร์ และโซลูชั่นส์ชั้นนำระดับโลก เผยผลสำรวจประจำปีเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของอัตราเงินเดือน ประจำปี 2559 (2016 General Industry Total Compensation Survey) คาดว่า การปรับอัตราเงินเดือนสำหรับลูกจ้างในกลุ่มอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของประเทศไทย จะมีการปรับขึ้นเล็กน้อยในปี 2560 เมื่อเทียบกับปีนี้
ผลสำรวจยังครอบคลุมถึงแนวโน้มด้านทรัพยากรบุคคลและค่าตอบแทนล่าสุดของประเทศไทยอีกด้วย โดยข้อค้นพบที่น่าสนใจด้านการปรับอัตราเงินเดือน เงินเดือนขั้นต้น การจ่ายโบนัส และอัตราการเข้า-ออกของพนักงาน พบว่า
ด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจที่คงที่ การปรับอัตราเงินเดือนโดยรวมสำหรับอุตสาหกรรมในไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 ในปี 2559 และคาดว่าจะค่อนข้างคงที่ในปี 2560 ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมมีแนวโน้มที่ใกล้เคียงกัน โดยกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์มีการขึ้นเงินเดือนต่ำสุด อยู่ที่ร้อยละ 5.3 ในปี 2559 แต่ในปี 2560 จะมีอัตราการขึ้นเงินเดือนสูงขึ้น โดยอยู่ที่ร้อยละ 5.5 ในขณะที่อัตราการขึ้นเงินเดือนระหว่างปี 2559 - 2560 อยู่ในระดับใกล้เคียงกันในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม
อัตราค่าจ้างเริ่มต้น สำหรับผู้ที่เพิ่งจบการศึกษา สูงสุดได้แก่ สาขาวิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ (20,583 บาท) การเงินและบัญชี (20,000 บาท) และกฎหมาย (18,000 บาท) ตามลำดับ ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาเทคนิค (วิศวกรรม วิทยาศาสตร์ ฯลฯ) สามารถขอเงินเดือนเริ่มต้นที่ 27,000 บาท ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม
อโณทัย ศรวัฒนะ ผู้จัดการฝ่ายสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการ บริษัท วิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน ประเทศไทย กล่าวว่า "แม้เงินเดือนปรับเพิ่มขึ้นอย่างคงที่ในกลุ่มพนักงานเกือบทุกระดับ เราคาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าตอบแทนสำหรับกลุ่มผู้ใช้แรงงานในปีหน้า เนื่องจากรัฐบาลจะมีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำที่ร้อยละ 1-3 ใน 69 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจะมีผลตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 เป็นต้นไป"
โบนัสในปี 2559 แตกต่างกันในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม อยู่ที่ระหว่าง 1.8 เดือน ถึง 3 เดือน ของเงินเดือนพื้นฐาน กลุ่มงานธนาคารและบริการการเงิน มีการจ่ายโบนัสสูงที่สุดโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3 เดือนของเงินเดือน ขณะที่กลุ่มประกันภัย และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ จ่ายโบนัสต่ำสุดที่ 1.8 เดือนของเงินเดือน
ในปี 2559 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการลาออกของพนักงานสูงสุด ได้แก่ กลุ่มคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ รวมถึงกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 16) ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการลาออกของพนักงานต่ำสุด ได้แก่ กลุ่มประกันชีวิต/ประกันภัย และกลุ่มไฮเทค ร้อยละ 10 "อัตราการลาออกของพนักงานโดยรวมอยู่ที่ร้อยละ 12 ต่ำกว่าปีที่ผ่านมาร้อยละ 2 โดยสาเหตุที่กลุ่มคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์มีอัตราการเข้า-ออกของพนักงานสูงสุด เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต รวมถึงการที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการจัดการซัพพลายเชนแห่งใหม่ของภูมิภาคอาเซียนด้วย เราจะติดตามและสำรวจแนวโน้มของอุตสาหกรรมนี้อย่างใกล้ชิด โดยเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในประเทศด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าสนใจอีกว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการลาออกของพนักงานสูงสุดในปี 2558 อย่างกลุ่มประกันชีวิตและกลุ่มไฮเทค กลับมีอัตราการลาออกของพนักงานต่ำสุดในปีนี้ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ มีเสถียรภาพในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ตลอดจนนายจ้างได้นำกลยุทธ์และแผนการรักษาบุคลากรที่มีประสิทธิภาพมาใช้ในองค์กร" อโณทัย กล่าว
ในด้านสัดส่วนของสวัสดิการ พนักงานของทุกบริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจได้รับสิทธิ์การลาพักร้อน ตามมาด้วยสวัสดิการรักษาพยาบาล (ร้อยละ 94) สวัสดิการประกันชีวิต (ร้อยละ 88) สวัสดิการการเกษียณอายุและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ร้อยละ 87) สวัสดิการเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ (ร้อยละ 83) สวัสดิการด้านอาหาร (ร้อยละ 18) และสวัสดิการแบบยืดหยุ่น (ร้อยละ 7) (ดูภาพที่ 3 ด้านล่าง)
คุณพิชญ์พจี สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน ประเทศไทย ยังได้กล่าวถึงปัจจัยสำคัญอันดับต้น ๆ ที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลต้องให้ความสำคัญในปี 2560 ด้วยว่า "เพื่อให้ธุรกิจองค์กรประสบความสำเร็จ ผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคลต้องสามารถใช้ประโยชน์ จากเทคโนโลยี, ความยืดหยุ่น, ความหลากหลาย, การสื่อสาร, และการวิเคราะห์ข้อมูล (ดูภาพที่ 4 ด้านล่าง) อย่างที่เราทราบกันดีว่า ความคล่องตัวเป็นเทรนด์ใหม่สำหรับองค์กร องค์กรต่าง ๆ จึงต้องเตรียมพร้อมที่จะรับมือหรือปรับเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอก ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะต้องมีมุมมองที่ก้าวไกลในการสร้างนโยบายต่าง ๆ ขึ้นมา โดยอาศัยข้อมูลที่ผ่านมา นำมาคาดการณ์แนวโน้มที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของธุรกิจ ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อสนับสนุนเป้าหมายขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะต้องพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นเพื่อจัดการกับข้อมูลที่ซับซ้อนมากขึ้น รวมถึงสามารถบริหารจัดการและคาดการณ์แนวโน้มต่าง ๆ เพื่อกำหนดเค้าโครงนโยบายในอนาคตและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับองค์กรได้อยู่เสมอ"
เกี่ยวกับผลสำรวจ
ผลสำรวจประจำปีเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของอัตราเงินเดือน ประจำปี 2559 (2016 General Industry Total Compensation Survey) ของวิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน ดำเนินการในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2559 ครอบคลุมบริษัท 231 แห่งจากกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการต่าง ๆ ในประเทศไทย ซึ่งรวมทั้งกลุ่มงานธนาคารและการเงิน กลุ่มบริหารสินทรัพย์ กลุ่มประกันชีวิต/ประกันภัย กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และไฮเทค กลุ่มเภสัชกรรม กลุ่มค้าปลีก กลุ่มขนส่งคมนาคมและโลจิสติกส์ และกลุ่มเคมีภัณฑ์ โดยมีจุดมุ่งหมายคือช่วยให้ธุรกิจสามารถกำหนดอัตราเงินเดือนให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ โดยจะช่วยส่งเสริมกระบวนการสรรหาและจัดจ้างพนักงาน รวมถึงการวางแผนบริหารจัดการผลตอบแทนโดยรวมแก่พนักงาน
รายงานเรื่อง "สวัสดิการพนักงานในกลุ่มอุตสาหกรรมทั่วไปในประเทศไทย ประจำปี 2559" (2016 Benefits Design Practices Report for General Industry in Thailand) โดยวิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน ทำการสำรวจเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 โดยรวบรวมข้อมูลจากบริษัท 233 แห่งในกลุ่มต่าง ๆ ทั้งประกันชีวิต/ประกันภัย อิเล็กทรอนิกส์ ไฮเทค ขนส่งและโลจิสติกส์ และบริการการเงิน รายงานฉบับนี้เผยข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติด้านการวางแผนสวัสดิการของนายจ้าง อาทิ สวัสดิการการเกษียณอายุ การดูแลสุขภาพ การส่งเสริมสุขภาวะ สวัสดิการด้านความเสี่ยง การลาหยุด สวัสดิการด้านอาหาร และสวัสดิการแบบยืดหยุ่นอื่นๆ ตามความเหมาะสม รายงานดังกล่าวเป็นแหล่งข้อมูลที่มีเนื้อหาครอบคลุมข้อมูลในตลาดประเทศไทย จัดทำขึ้นเพื่อให้พนักงานที่ดูแลด้านสวัสดิการ ใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงและแนวทางการบริหารงานโดยทั่วไป
"รายงานการวางแผนจัดสรรงบประมาณเงินเดือน ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ไตรมาส 3 ปี 2559 (2016 Salary Budget Planning Report – Asia Pacific (Third Quarter)) ของวิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน ดำเนินการเก็บข้อมูลในระหว่างเดือนตุลาคม 2559 เพื่อเป็นแนวทางสำหรับบริษัทในการวางแผนการปรับอัตราผลตอบแทนและการจัดสรรงบประมาณสำหรับเงินเดือนให้เกิดประสิทธิภาพ รายงานประจำปีฉบับนี้สรุปข้อมูลความเคลื่อนไหวของอัตราเงินเดือนและแนวทางในการพิจารณาเงินเดือนที่เก็บข้อมูลจากทั่วโลก