สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชน 1,182 หน่วยตัวอย่างที่มีอายุ 15 ปี ขึ้นไป ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 23 – 27 พฤศจิกายน 2559 กำหนดขนาดตัวอย่างตามสัดส่วนประชากรแบ่งเป็นในและนอกเทศบาล และกระจายตามระดับการศึกษา เพศ และอาชีพ เรื่อง รัฐบาลสอบผ่านการแก้ปัญหาเรื่องข้าวในช่วงที่ผ่านมาหรือไม่ พบว่าในภาพรวมทั้งประเทศให้รัฐบาล สอบไม่ผ่าน 53.3% และ สอบผ่าน 46.7% และเมื่อวิเคราะห์จำแนกในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาลพบว่า นอกเขตเทศบาล : สอบไม่ผ่าน 42.5% แต่ในเขตเทศบาล : สอบผ่าน 53.3%
แม้รัฐบาลได้พยายามออกมาตรการแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ แต่จากผลสำรวจพบว่า รัฐบาลยังสอบตก หากวิเคราะห์สาเหตุที่รัฐสอบตก คือ
1. การที่กลุ่มคนเมือง/ในเขตเทศบาลให้รัฐบาลสอบผ่าน แต่กลุ่มคนนอกเขตเทศบาลให้รัฐบาลสอบตก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนในเมืองรับข้อมูลข่าวสารมากกว่า และไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่สำหรับประชาชนในชนบทเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง และยังมีชาวนา/ผู้เกี่ยวข้องอีกจำนวนมากที่ยังขายข้าวได้ในราคาที่ต่ำไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิต
2. มาตรการช่วยชาวนาของรัฐบาลชุดนี้ทำให้ประชาชนรู้สึกพึงพอใจน้อยกว่า เมื่อเทียบกับนโยบายของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา โดยเฉพาะชาวนาและผู้ได้รับผลกระทบ (ซึ่งส่วนใหญ่อยู่นอกเขตเทศบาล) เคยได้รับเงินจากโครงการจำนำข้าว 15,000 บาท/ตัน จึงทำให้รู้สึกว่าได้รับความช่วยเหลือน้อยกว่า
3. การที่มาตรการแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำของรัฐบาลไม่ค่อยเป็นข่าว หรือไม่สามารถสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนได้ว่า รัฐบาลทำอะไรในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะโครงการ "รับประกันยุ้งฉาง" คืออะไรและจะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไร ทำให้การรับรู้ของประชาชนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับกิจกรรมที่นักการเมืองและภาคประชาสังคมที่ต่างช่วยระบายข้าวสู่ตลาดที่กลายเป็นข่าวที่ประชาชนรับรู้มากกว่า ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากประชาสัมพันธ์มาตรการแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำล้นตลาดยังน้อยเกินไป
4. มาตรการของรัฐบาลที่ออกมาเป็นมาตรฐานแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ที่อาจออกมาล่าช้าเกินไปในความรู้สึกของประชาชน เพราะเป็นมาตรการที่มาช่วยเหลือในช่วงที่เกิดวิกฤตแล้ว เป็นลักษณะการช่วยเหลือที่ปลายทางในการระบายข้าว แต่ยังไม่ได้เป็นการแก้ไขทั้งระบบ
ข้อเสนอ
1. ควรใช้โอกาสนี้สร้างความเข้าใจ และทัศนคติในการช่วยเหลือของรัฐต่อกลุ่มคนต่าง ๆ แบบยั่งยืน
2. ควรมีระบบประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มเป้าหมายและคนในสังคมรู้ถึงมาตรการใหม่ ๆ ของรัฐบาล เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง มีมุมมองเชิงบวกและให้ความร่วมมือ
3. ควรแก้ปัญหาจัดการข้าวทั้งระบบ ตั้งแต่ลดต้นทุนการผลิต การรวมกลุ่มเกษตรกรในการผลิต แปรรูป บรรจุ และจำหน่าย ฯลฯ
4. ควรให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายกลุ่มประชาสังคมในการร่วมช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาในด้านต่าง ๆ ครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
5. ควรให้ความสำคัญกับการประเมินสถานการณ์และคาดการณ์อนาคต และมีมาตรการเชิงกลยุทธ์ที่เป็นแนวทางเลือกไว้รองรับและมีการดำเนินการรองรับปัญหาไว้ล่วงหน้า