นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันจำนวนผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) มีจำนวนเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่โตขึ้น จากการสำรวจและติดตามสถานประกอบการโรงงานอุตสาหกรมและอาคารธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ในประเทศไทย พบว่า โดยมาก SMEs ยังไม่ได้มีการดำเนินมาตรการอนุรักษ์พลังงานเท่าที่ควร เนื่องจากมีปัญหาและอุปสรรคในด้านเทคนิค บุคลากร และเงินทุน ดังนั้น กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จึงได้ร่วมกับ สมาคมบริษัทจัดการพลังงานไทย (ThaiESCO) จัดทำโครงการเสริมสร้างศักยภาพด้านการอนุรักษ์พลังงานในกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ภายใต้รูปแบบบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) เพื่อให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือในการดำเนินมาตรการอนุรักษ์พลังงานที่ต้องใช้เทคนิคขั้นสูง และเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระความเสี่ยงด้านเทคนิคและด้านการเงินของผู้ประกอบการ SMEs อันที่จะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน พร้อมเสริมสร้างความแข็งแกร่งของศักยภาพการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs ได้อย่างยั่งยืน
การดำเนินโครงการดังกล่าว เริ่มจากการจัดฝึกอบรมให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs และ ESCO กว่า 50 สถานประกอบการ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการทำโครงการอนุรักษ์พลังงานภายในรูปแบบ ESCO จากนั้นทำการคัดเลือกผู้ประกอบการเพื่อเข้าดำเนินโครงการไม่น้อยกว่า 3 ราย พร้อมจัดทำรายงานการประเมินความเหมาะสม รวมถึงจัดทำแผนแม่บท (Master Plan) เพื่อวางแผนในการขยายผลโครงการอนุรักษ์พลังงานในกลุ่ม SMEs และจัดให้มีงานสัมมนาเพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินโครงการเพื่อสร้างความเข้าใจการพัฒนาต่อยอดโครงการฯ และสุดท้าย ESCO จะเข้าไปให้คำปรึกษาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ
ผลการดำเนินโครงการให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs นั้น มีผู้ประกอบการ 4 ราย ที่สามารถดำเนินการตามมาตรการประหยัดพลังงาน คือ บริษัท แซนด์แอนด์ชอยล์ อุตสาหกรรม จำกัด, บริษัท ยูเนี่ยนลิงค์ จำกัด, บริษัท อุตสาหกรรมอำนวยไชย จำกัด และ บริษัท มหาจักรอุตสาหกรรม จำกัด โดยได้ดำเนินมาตรการด้านอนุรักษ์พลังงานในรูปแบบของ ESCO ได้แก่ การใช้มอเตอร์ไฟฟ้าชนิดประสิทธิภาพสูง, การลดขนาดและใช้มอเตอร์ไฟฟ้าชนิดประสิทธิภาพสูง, มาตรการจัดการการเดินเครื่องทำความเย็นขนาดใหญ่ (Chiller) ให้เหมาะสม และมาตรการปรับปรุงระบบท่อเมนจ่ายลมระบบอากาศอัด ซึ่งมาตรการเหล่านี้ช่วยให้ผู้ประกอบการลดการใช้พลังงาน และมีผลตอบแทนให้เพิ่มเติม
นอกจากนี้ยังได้มีการจัดทำ "แผนแม่บท ESCO – SMEs master plan" เพื่อใช้ในการวางแผนขยายผลโครงการอนุรักษ์พลังงานในกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ภายใต้รูปแบบ ESCO โดยได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 4 ช่วง เริ่มตั้งแต่ ปี 2559 เป็นช่วงของการเตรียมการจัดการแผนแม่บทฯ และวางแผนการขับเคลื่อนกิจกรรม หลังจากนั้นช่วงปี 2560 – 2561 เป็นช่วงการเตรียมความพร้อมและพัฒนาโครงการนำร่อง ESCO – SMEs for EERS ซึ่งจะเป็นช่วงการพัฒนารูปแบบกลไก รวมถึงพัฒนารูปแบบการทำสัญญาระหว่าง ESCO กับ 3 การไฟฟ้า (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) ต่อจากนั้น ปี 2561 – 2562 เข้าสู่ช่วงของการพัฒนารูปแบบการส่งเสริมการลงทุนผ่านรูปแบบกลไกสนับสนุนทางการเงิน "กองทุนร่วม EERS Revolving Fund" รวมถึงการดำเนินการปรับปรุงโครงการนำร่อง และช่วงสุดท้าย ปี 2564 – 2565 เป็นช่วงการติดตาม พิสูจน์ผลประหยัด ทั้งนี้ แผนแม่บทฯ ได้ตั้งเป้าหมายมุ่งให้เกิดการประหยัดพลังงานได้ 10 ktoe (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) จากโครงการนำร่อง และสามารถขยายผล ESCO – SMEs for EERS เชิงพาณิชย์ให้บริการกับผู้ให้บริการด้านพลังงาน
"การจัดทำโครงการฯ นี้ เพื่อต้องการนำความเป็นมืออาชีพของ ESCO มาจัดการและสร้างองค์ความรู้ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ไทย ทำให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายการดำเนินการด้านอนุรักษ์พลังงานระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในการพัฒนาโครงการอนุรักษ์พลังงาน และมั่นใจในการลงทุนเพื่อเสริมศักยภาพความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ รวมทั้งยังเป็นการแบ่งเบาภาระความเสี่ยงด้านเทคนิคและด้านการเงินของผู้ประกอบการ SMEs สร้างความเชื่อมั่นและความสนใจให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ผ่านกลไกบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) เพื่อให้เกิดการบูรณาการและเพิ่มศักยภาพการจัดการด้านพลังงาน ภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP 2015) และ แผนพัฒนาพลังงงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015)" นายทวารัฐ กล่าวเพิ่มเติม