ในงานนี้มีหัวข้ออภิปรายแบ่งได้เป็น 4 หัวข้อ ประกอบด้วย การเงินยุคดิจิทัลและฟินเทค (FinTech) การค้าและการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน การสร้างความยั่งยืนในภาคการเงิน และการเตรียมพร้อมสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นการระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์จากผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญกว่า 300 คนจากธนาคารชั้นนำในทั่วภูมิภาคอาเซียน
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษโดยได้ให้มุมมองต่อความ ท้าทายที่กำลังเกิดขึ้นและจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเงินในอาเซียน ที่ขณะนี้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของโลกกำลังเผชิญกับสภาวะที่เรียกว่าเศรษฐกิจเติบโตแบบ Multiple Lows โดยตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายอย่างอยู่ในระดับต่ำและเชื่องช้า ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจ การลงทุน มูลค่าการค้า อัตราดอกเบี้ย ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งสภาวการณ์เช่นนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงเฉพาะต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน และอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังกระตุ้นให้สังคมเกิดความตึงเครียด และการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์การเมือง สำหรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วนั้นจะสร้างแรงกดดันให้สถาบันการเงินจะต้องปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไปสู่โมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังได้ให้ข้อคิดเห็นสำหรับธุรกิจธนาคารในภูมิภาคอาเซียนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต 5 ประการ ดังนี้
การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี ธนาคารจะต้องให้ความสำคัญต่อการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของการให้บริการ
ธนาคารในอาเซียนควรต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองเพื่อให้สามารถรับมือกับวัฏจักรทางเศรษฐกิจทั้งขาขึ้นและขาลง
ธนาคารจะต้องสร้างพฤติกรรมและวัฒนธรรมขององค์กรให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด สร้างความแข็งแกร่งและความยั่งยืน เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่ไม่คาดคิด
ปลูกฝังหลักการของธนาคารแก่พนักงานในองค์กรเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน
ธนาคารในอาเซียนจำเป็นต้องร่วมมืออย่างแนบแน่นยิ่งขึ้นเพื่อสร้างความแข็งแกร่งของเครือข่ายทางการเงินในภูมิภาค
Mr Kartika Wirjoatmodjo ในฐานะประธานสมาคมธนาคารอาเซียน (ASEAN Bankers Association), ประธานสมาคมธนาคารอินโดนีเซีย (PERBANAS) และประธานกรรมการ และประธานบริหาร PT Mandiri (Persero) Tbk, กล่าวว่า ธนาคารอาเซียนต้องเตรียมแผนเชิงรุกในการมีส่วนร่วมในกระบวนการทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นประโยชน์กับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคมากขึ้น
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การเป็นเจ้าภาพจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญสำหรับสมาคมธนาคารไทย เพื่อสร้างการแลกเปลี่ยนมุมมองทางการเงินการธนาคารในภูมิภาคอาเซียนซึ่งอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจใหม่
นอกจากนี้ ยังมีการประชุมคณะกรรมการผู้แทนถาวรสภาธนาคารอาเซียนครั้งที่ 46 ใน 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่คณะกรรมการความร่วมมือทางการเงิน การค้าและการลงทุน (COFIT) โดยมุ่งเน้นใน 3 หัวข้อหลักดังนี้
ด้านการเงินดิจิทัลและเทคโนโลยีทางการเงิน โดยสมาคมธนาคารไทยรับเป็นเจ้าภาพในการจัดเวิร์คช้อปในช่วงต้นปี 2560
ความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการนำเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และลดความเสี่ยง โดยสมาคมธนาคารอินโดนีเซียรับเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมในช่วงไตรมาสที่ 2/2560
การพัฒนาด้านการเงินที่ยั่งยืน (Sustainable Financing) โดยมีสมาคมธนาคารกัมพูชาเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม
คณะกรรมการการศึกษาการธนาคาร
เครือข่ายการศึกษาธนาคารอาเซียนจะมีการหารือกันเป็นระยะๆ เพื่อหาแนวทางบรรลุมาตรฐานขั้นต้นทางด้านทักษะและแนวปฏิบัติและกิจการธนาคารด้านใดที่เหมาะกับการรับรองมาตรฐานจากสมาคมธนาคารและหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศเพื่อนบ้าน
คณะกรรมการความสัมพันธ์ระหว่างภูมิภาคอาเซียน (IRR)
มีการพิจารณาการจัดกิจกรรมทัศนศึกษาประจำปี 2560 ณ เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน