ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ดังกล่าวอยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ BAM เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวเป็นภาระผูกพันที่ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของบริษัท
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ BAM มีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการสนับสนุนจากภาครัฐ BAM มีกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (ซึ่งเป็นหน่วยงานของธนาคารแห่งประเทศไทย) เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด 100% และ BAM มีบทบาทที่สำคัญต่อระบบสถาบันการเงินไทยในฐานะที่เป็นองค์กรบริหารหนี้ด้อยคุณภาพที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ
แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบของ BAM นั้นสะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ว่าภาครัฐมีแนวโน้มที่จะลดระดับการให้การสนับสนุนแก่ BAM เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนจากธนาคารแห่งประเทศไทยในด้านการถือหุ้น BAM ในระยะยาว อีกทั้งยังคงมีความไม่ชัดเจนในระดับของความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่าง BAM และภาครัฐ
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
การเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ BAM น่าจะส่งผลกระทบในทางเดียวกันต่ออันดับเครดิตของหุ้นกู้
สัญญาณที่บงชี้ว่าภาครัฐมีความตั้งใจที่จะคงสัดส่วนการถือหุ้นใน BAM ไว้ในระดับเดิมและการคงผลประโยชน์ในด้านกฎเกณฑ์ที่เอื้ออำนวยต่อบริษัทไว้ อาจส่งผลให้แนวโน้มอันดับเครดิตปรับมาเป็น 'มีเสถียรภาพ' และอาจส่งผลให้ต้องมีการประเมินอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวใหม่ (re-assessment) ในขณะที่การลดสัดส่วนการถือหุ้นใน BAM ของภาครัฐลงไปต่ำกว่า 50% และการยกเลิกผลประโยชน์ในด้านกฎเกณฑ์อาจส่งผลให้อันดับเครดิตถูกปรับลดอับดับลงหลายอันดับ โดยอันดับเครดิตในอนาคตของบริษัทจะขึ้นอยู่กับปัจจัยในด้านระดับหนี้สินและฐานะทางการเงินโดยรวมของบริษัท
สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถหาได้ในรายงาน หัวข้อ "ฟิทช์คงอันดับเครดิตบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ที่ 'AA-(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ" เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2559